ศรีสุวรรณ จ่อร้อง สตง.จับพิรุธ ธ.ก.ส.ประมูลบริหารธุรกิจตู้ ATM มูลค่า 3,100 ล้าน

ศรีสุวรรณ จ่อร้อง สตง.จับพิรุธ ธ.ก.ส.ประมูลบริหารธุรกิจตู้ ATM มูลค่า 3,100 ล้าน

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารระบบเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2549 มูลค่า 1,200 ล้านบาท ในระยะเวลาของโครงการ 7 ปี โดยการประกวดราคา ซึ่งได้กลุ่มร่วมทำงานระหว่างบริษัท Platt Nera และบริษัท G-able เป็นผู้ดำเนินการ และมีบริษัท Data One เป็นผู้รับเหมาช่วง และต่อมาในปี 2554 ก่อนหมดสัญญาโครงการ ธ.ก.ส.ได้แก้ไขสัญญาให้กลุ่มร่วมทำงานเดิมไปอีก 7 ปี โดยเพิ่มมูลค่าของโครงการอีกกว่า 2,000 ล้านบาทโดยไม่มีการประกวดราคา ทำให้กลุ่มร่วมทำงานดังกล่าวผูกขาดระบบ ATM ของ ธ.ก.ส.เป็นเวลายาวนานถึง 14 ปี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้เปิดประมูลโครงการระยะที่ 3 ต่อระยะเวลาไปอีก 7 ปีมูลค่ากว่า 3,100 ล้านบาท มีการจัดทำเงื่อนไข ทีโออาร์.ที่ส่อพิรุธ ไปในทางที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มร่วมทำงานรายเดิมเท่านั้น เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้บริหาร ธ.ก.ส. ไม่กล้าที่จะเข้าร่วมประกวดราคาแข่งขันมากนัก เช่น ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเคยมีผลงานการบริหารจัดการ ATM ของสถาบันการเงินในประเทศไทย โดยมีหนังสือรับรองจากสถาบันการเงินนั้น และผู้ชนะการประมูล จะต้องซื้อซากเครื่อง ATM ซากเครื่องปรับอากาศ ทั้งหมดตามราคาที่ ธ.ก.ส.กำหนด และเงื่อนไขอื่น”นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การประกวดราคาครั้งนี้จึงอาจเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สามารถกำหนดราคาได้ ทำให้ ธ.ก.ส. และรัฐเสียประโยชน์ ทั้งที่ประเทศอยู่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่องค์กรของรัฐกลับใช้โอกาสในช่วงที่รัฐกำลังแก้ไขปัญหาโควิด-19 ดำเนินการเร่งรีบในการจัดหาผู้ประมูลบริหารเครื่อง ATM นอกจากนั้น ยังเป็นช่วงที่ ธ.ก.ส.กำลังประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนใหม่จนถึง 12 มิถุนายน 2563 ซึ่งไม่ควรที่จะเร่งรีบเปิดประมูลในช่วงนี้

“การกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อแนวทางปฏิบัติที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) ที่บัญญัติให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐต้องโปร่งใส กระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน เพื่อความโปร่งใสจะไปร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ใช้อำนาจตาม พรป.การตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ในการตรวจสอบข้อพิรุธ ในวันที่ 22 พฤษภาคม นี้ ที่สำนักงาน สตง.เขตพญาไท” นายศรีสุวรรณ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image