‘ก.เกษตรฯ’ ยันขรก.9 หมื่นราย หมดสิทธิรับเงินเยียวยาเกษตรกร 1.5หมื่นบาท เหตุมีรายได้ประจำ

‘ก.เกษตรฯ’ ยันข้าราชการชวดรับเงินเยียวยา 5 พัน เหตุมีรายได้ประจำ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีกรอบเยียวยาไม่เกิน 10 ล้านราย รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและผ่าน การตรวจสอบคุณสมบัติมีสิทธิ์ในการรับเงินเยียวยา ถือเป็นเกษตรกรกลุ่มที่ 1 จำนวน 8.33 ล้านราย ภายหลังจากการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับทะเบียนฐานประกันสังคม ทะเบียนข้าราชการบำนาญ ทะเบียนข้าราชการ และโครงการเราไม่ทิ้งกัน ทำให้คงเหลือเกษตรกรที่มีคุณสมบัติได้รับเงินเยียวยา จำนวน 6.77 ล้านราย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรในกลุ่มที่ 1 ในชุดแรกแล้ว จำนวน 3.3 ล้านราย ส่วนที่เหลืออีก 3.4 ล้านราย อยู่ระหว่างการคัดกรองความซ้ำซ้อนกับมาตรการอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับเงินเยียวยาได้ภายในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้

“สำหรับกลุ่มที่ 1 จำนวน 3.3 ล้านราย ในจำนวนนี้กระทรวงการคลังตรวจพบความซ้ำซ้อนกับสิทธิประกันสังคม ประมาณ 3 แสนราย โครงการเราไม่ทิ้งกัน ประมาณ 1 แสนราย ข้าราชการบำนาญ ประมาณ 8 หมื่นราย และข้าราชการ ประมาณ 9 หมื่นราย โดยกระทรวงการคลังได้ส่งข้อมูลกลับมาที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีความเห็นว่าข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนตามปกติไม่เหมาะสมที่จะได้รับเงินเยียวยาฯ หลังจากได้รับข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเรื่องให้คณะกลั่นกรองพิจารณาแล้ว เบื้องต้นคณะกลั่นกรองเห็นด้วยว่า ข้าราชการไม่เหมาะสมที่จะได้รับเงินเยียวยา และอาจจะมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมครม.เพื่อแจ้งให้ทราบต่อไป แต่ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าข้าราชการที่ลงทะเบียนเกษตรกรเป็นอาชีพเสริมไม่สามารถรับการเยียวยาได้จึงทำให้เกิดประเด็นดังกล่าวขึ้น” นายอนันต์กล่าว

นายอนันต์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ธ.ก.ส.ตรวจพบรายของผู้ที่ได้รับสิทธิ์เยียวยาฯ ในรอบวันที่ 22-25 พฤษภาคม 2563 พบว่าเป็นรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1 แสนราย จากจำนวนทั้งหมด 3.4 ล้านรายนั้น แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะจ่ายเงินให้กับผู้เสียชีวิต หลังจากนี้จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป ส่วนกรณีที่พบว่าผู้ตายเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรระหว่างปี 2562/63 ทายาทจะรับแทนได้หรือไม่นั้น ต้องนำเรื่องไปให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอีกครั้งอย่างละเอียด ว่าในกรณีนี้จะปฏิบัติอย่างไร แล้วจะนำข้อกำหนดที่ได้เสนอเข้าครม. แล้วกระทรวงเกษตรฯจะนำข้อกำหนดเหล่านั้นมาใช้ต่อไป นอกจากนี้ ขอให้มั่นใจเกษตรกรมั่นใจในวัตถุประสงค์โครงการฯที่เน้นช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดมาก่อนเป็นอันดับแรก

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ผู้ที่ถือสิทธิประกันสังคม ตามมาตรา 33 ไม่สามารถขอรับการเยียวยาฯ ทั้งที่เป็นเกษตรกรได้ นั้น ข้อกำหนดของการเข้าร่วมโครงเยียวยาฯ ได้มีการระบุเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าผู้ขอรับสิทธิ์ต้องไม่มีความซ้ำซ้อนกับสิทธิประกันสังคม ซึ่งต้องไปดูว่าผู้ที่มาขอขึ้นทะเบียนแจ้งไว้แบบไหน หรือมีการอัพเดตทะเบียนเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image