ก.พลังงานไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าไฟ ชี้ตั้งแต่มิ.ย.ใครใช้ไฟเพลินระวัง

ก.พลังงานไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าไฟ ชี้ตั้งแต่มิ.ย.ใครใช้ไฟเพลินระวัง พร้อมเร่งทำแผนรับมือหากโควิดระบาดซ้ำ-ฟื้นฟูศก.

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า ขณะนี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังไม่มีนโยบายต่ออายุมาตรการช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้า 3 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม ทั้งการยกเว้นการเก็บค่าไฟผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย และส่วนลดสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟเท่ากับยอดการใช้ไฟเดือนกุมภาพันธ์ , ส่วนลด 50% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 800 – 3,000 หน่วย และส่วนลด 30% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 หน่วย รวมทั้งการลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ตั้งแต่เมษายน – มิถุนายน แม้ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ล่าสุดเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 – 30 มิถุนายนก็ตาม เนื่องจากขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนเริ่มใช้ไฟฟ้าลดลง ไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนเดือนเมษายนที่หลายครัวเรือนเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศมากขึ้น จนทำให้ค่าไฟฟ้าแพง

“มาตรการที่ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนส่วนใหญ่ที่ทำงานที่บ้าน ตามนโยบายรัฐบาล ทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น หลายบ้านถูกคิดค่าไฟแบบอัตราก้าวกระโดด เดือนพฤษภาคมเมื่อมาตรการครบกำหนด การคิดค่าไฟ จะเข้าสู่ปกติ อยากเตือนให้ประชาชนใช้ไฟให้คุ้มค่า เปิดดูคู่มือการประหยัดไฟ ซึ่งวงเงินการเยียวยาลดภาระค่าไฟฟ้า ที่ผ่านมารวมกันทั้ง 2 มาตรการก็สูงอยู่ โดยมาตรการใช้ไฟฟรี และลดราคา 30-50% ดูแล 22 ล้านครัวเรือน ใช้วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการลดค่าไฟฟ้า 3% ใช้ประมาณ 5-6 พันล้านบาท เบื้องต้นจึงยังไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าไฟเพิ่ม และขอประเมินสถานการณ์ทุกอย่างอย่างใกล้ชิด อาทิ นโยบายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล และแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าของประชาชนก่อน”รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวระบุว่า นายสนธิรัตน์ได้สั่งการให้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน จัดทำมาตรการช่วยเหลือล็อตใหม่ รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูประเทศด้านพลังงาน ศึกษา 2 กรณี คือ หากโควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 หลังรัฐบาลคลายล็อก หรือหากไม่มีการระบาดรอบ 2 ซึ่งจะเน้นกลุ่มเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจด้วย เบื้องต้นใช้งบประมาณแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งบที่กระทรวงพลังงานมีอยู่แล้วบางส่วน โดยจะนำมาปรับวัตถุประสงค์ให้ตรงกับเป้าหมาย และอีกส่วนจะต้องพิจารณาสามารถใช้งบประมาณจากเงินกู้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image