‘สแตนดาร์ดฯ’ คาดไตรมาส 3 เที่ยวในประเทศฟื้น ก่อนไตรมาส 4 จีนเริ่มกลับมา ชี้จีดีพีทั้งปีลบ 5% ไม่เห็นแววบวกได้

สแตนดาร์ดฯคาดไตรมาส 3 เที่ยวในประเทศฟื้น ก่อนไตรมาส 4 จีนเริ่มกลับมา ชี้จีดีพีทั้งปีลบ 5% ไม่เห็นแววบวกได้

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่นั้น ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ภาคการใช้จ่ายจะทยอยกลับมา เนื่องจากมีความผ่อนคลายของมาตรการต่างๆ มากขึ้น รวมถึงคาดว่าภาคการท่องเที่ยวในประเทศจะเริ่มกลับมา โดยต้องการเห็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศทั้งเมืองหลักและเมืองรองเกิดขึ้น ขณะที่ประเมินว่าในไตรมาส 4 หรือภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและเอเชียจะเริ่มกลับมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น แต่ยังต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ในภูมิภาคเดียวกันด้วย และพิจารณาเป็นรายประเทศ รวมถึงใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด โดยธนาคารประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 จะหดตัวอยู่ที่ 5% ภายใต้ 3 สมุติฐานคือ 1.กรณีดีที่สุด หากสามารถมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ จะส่งผลให้จีดีพีติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ 3% แต่คงยังไม่เห็นการกลับมาเป็นบวกของเศรษฐกิจได้ 2.กรณีปานกลาง ภายในต้นปี 2564 น่าจะมีวัคซีนออกมา เพราะเริ่มเห็นข่าวการทดลองวัคซีนทั้งในไทยและต่างประเทศแล้วซึ่งคาดว่าจะทำให้จีดีพีติดลบ 5% และ 3.กรณีเลวร้าย หากมีการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 จะส่งผลให้จีดีพีมีโอกาสติดลบมากขึ้นอยู่ที่ 10% เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกลดความสำคัญลง และภาครัฐจะหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุขแทน ทำให้การเปิดธุรกิจ และเปิดเมืองอีกครั้ง รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง

ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงที่ต้องระมัดระวัง แม้จะเห็นสัญญาณบวกของการฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้น แต่มองจีดีพีไตรมาส 2 จะติดลบกว่า 13% และจะทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยยังไม่สามารถประเมินได้ว่าไตรมาส 2 คือจุดต่ำสุดของภาวเศรษฐกิจแล้ว เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยคือ จะมีการค้นพบวัคซีนได้หรือไม่ และจะมีการระบาดรอบ2 หรือไม่ ซึ่งหากกลับมาระบาดระลอก 2 ทุกอย่างจะกลับไปเป็นภาพคล้ายตอนเกิดโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้ก็ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงอยู่นายทิมกล่าว

นายทิมกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องติดตาม 3 ประเด็น คือ 1.ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่จะกลับมารุนแรงอีกครั้ง แม้ว่าปี 2562 จะไม่มีผลกระทบต่อไทยมาก เพราะไทยยังมีการท่องเที่ยวมาช่วย แต่ปีนี้ปัจจัยสนับสนุนหายไป ผลกระทบจะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน 2.การกู้เงินของรัฐบาล จะต้องติดตามผ่านการประชุมสภาว่าจะสามารถกู้เงินได้ตามแผนหรือไม่ รวมถึงจะมีเรื่องของการเมืองในสภาและนอกสภาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรเพราะเป็นเรื่องการเมืองที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจด้วย และ 3.การกลับมาติดเชื้อระลอก 2 หลังจากการเปิดประเทศ และเปิดธุรกิจ อาจจะเป็นความเสี่ยงจากแรงงานต่างชาติที่กลับมาเข้ามาทำงานมากขึ้น จึงต้องตรวจสอบด้านสาธารณสุขให้ชัดเจน

นายทิมกล่าวว่า เชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 โดยในปี 2564 จีดีพีจะกลับมาบวกเล็กน้อยที่ระดับ 2% ซึ่งถือว่าขยายตัวน้อยกว่าในปี 2550-2551 ในส่วนของนโยบายการเงิน มองว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 24 มิถุนายนนี้คาดว่าจะเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% และจะกลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 0.25% โดยหากเศรษฐกิจหดตัวและเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ก็มีโอกาสที่จะเห็นกนง.เดินหน้าดอกเบี้ย 0% หรือ ติดลบได้ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่านโยบายการเงินและนโยบายเศรษฐกิจจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป โดยจะมีการนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) มาใช้หรือไม่ ก็ต้องรอดูนโยบายจากผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ โดยหากให้ประเมินการดำเนินมาตรการคิวอี จะเห็นว่าประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นที่ดำเนินนโยบายดังกล่าว เนื่องจากไทยมีสัดส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ประมาณ 40% และรายย่อยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่เหมือนต่างประเทศที่ธุรกิจรายใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหากไทยใช้มาตรการคิวอี ยังมองไม่ออกว่าจะช่วยเอสเอ็มอีและรายย่อย หรือภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างไร

Advertisement

นายทิมกล่าวว่า สำหรับค่าเงินบาทที่มีการเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง และกลับมาแข็งค่าขึ้น ต้องติดตามใกล้ชิด โดยในปี2562 เงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาคที่ 8% จาก 32.50 มาที่ระดับ 29.00 ปลายๆ ส่วนในปีนี้ช่วงแรกเงินบาทอ่อนค่าเกือบที่สุดในภูมิภาค แต่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลับขึ้นมาแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ธปท.เริ่มมีความกังวลในด้านการเก็งกำไรและติดตามดูอย่างใกล้ชิดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ขณะที่ประเมินว่าแนวโน้มเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงต่อไป โดยคาดการณ์ สิ้นปีที่ 31.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวในปลายปี หากไม่มีการระบาดระลอก 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image