เอกชนชี้ขายยางล้อตามกลไกตลาด-ระบุที่ประชาชนซื้อแพงเหตุพ่วงบริการ

นายชโย ตรังอดิศัยกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกระแสสังคมตั้งคำถามถึงปัญหาผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น ยางล้อ ที่กลับมีราคาสูงกว่าราคายางที่ตกต่ำว่า ที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมยางล้อได้มีการลดราคายางต่อเนื่องในช่วง 2–3 ปีหลัง ตามกลไกราคาตลาด ทั้งปัจจัยยางล้อรถในต่างประเทศมีราคาต่ำลง เช่น จีน หรือ อินโดนีเซีย และปัจจัยการแข่งขันภายในประเทศ ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมยางล้อในประเทศนั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มผู้ผลิตยางในประเทศไทยหรือแบรนด์ไทยเอง ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 1% กลุ่มที่ 2.กลุ่มแบรนด์ต่างประเทศ หรือบริษัทต่างประเทศที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น บริดจ์สโตน ดันล็อป หรืออื่นๆ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่นำยางจากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยทั้ง 3 กลุ่ม มีการแข่งขันทางตลาดที่สูง ทั้งในเรื่องของราคา แบรนด์การขายสินค้า และโปรโมชั่น ซึ่งทำให้เป็นการแข่งขันทางการค้าที่สมบูรณ์อยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ยากที่จะกำหนดราคาขายเอง

“โรงงานอุตสาหกรรมยางล้อนั้นไม่ได้เป็นผู้ขายยางโดยตรงกับผู้บริโภค แต่จำหน่ายยางให้กับคนกลางหรือตัวแทนจำหน่ายหรือร้านค้าปลีก เช่น ศูนย์บริการรถยนต์ บีควิก บริดจ์สโตน ค็อกพิท มิชลิน ซึ่งร้านจำหน่ายมีจุดขายทั่วไปไม่ใช่ขายยางล้อ แต่ขายการบริการ ขายการติดตั้งยางล้อหรือแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อเข้าร้านพวกนี้ก็ถือเป็นการซื้อสินค้าพ่วงด้วยราคาบริการ หรือเรียกกันว่า เป็นการค้าแบบโมเดิร์นเทรด โดยที่จริงแล้วผู้บริโภคสามารถเลือกร้านได้ แต่ก็เข้าเพราะชอบความประทับใจการบริการ เหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อเซเว่น”นายชโยกล่าว

นายชโย กล่าวถึงมาตรการรัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายกำลังการผลิตการใช้ผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินทั้งหมด 1.5 หมื่นล้านบาทว่า ถือเป็นมาตรการโดยตรงที่จะช่วยผู้ประกอบการให้มีต้นทุนที่ต่ำลงและทำให้เกิดการลงทุนที่มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ยางในประเทศได้สูงขึ้นประมาณ 10% หรืออย่างน้อย 60,000 ตัน ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยจากเดิมที่มีการใช้ยางภายในประเทศประมาณ 540,000 ตัน คิดเป็น 13% ขณะที่มีการส่งยางออกนอกประเทศถึง 87%

ที่ผ่านมามาตรการดังกล่าว ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการโรงงาน แต่กลับไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะติดปัญหาในด้านธนาคารออมสินไม่มีประสบการณ์มากพอในการให้สินเชื่อกับภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้การที่รัฐบาลออกมาตรการล่าสุดโดยดึงธนาคารพาณิชย์มาเข้าร่วมให้สินเชื่ออีก 6 ธนาคารแล้วนั้น เชื่อว่าน่าจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีประสบการณ์ในการให้สินเชื่อภาคเอกชน เพราะมีประว้ติการชำระเงิน ผลประกอบการของบริษัทอยู่แล้ว อีกทั้งภาครัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารในอัตรา 3% อีกด้วย ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่ำ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image