เฉลียงไอเดีย : ‘ธามารีน เจริญพิทักษ์’สืบทอดงานทองโบราณ สร้างชื่อ‘ต้นมะขาม’ดังไกลต่างประเทศ

เฉลียงไอเดีย : ‘ธามารีน เจริญพิทักษ์’สืบทอดงานทองโบราณ สร้างชื่อ‘ต้นมะขาม’ดังไกลต่างประเทศ

ธามารีน เจริญพิทักษ์ ทายาทรุ่น 4 สืบทอดงานทองโบราณ
สร้างชื่อ‘ต้นมะขาม’ผ่านโซเชียลมีเดีย..ดังไกลต่างประเทศ

ยามนี้ราคาทองเป็นขาขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจที่หลายคนรู้สึกว่าอยู่ปากเหว นักลงทุนจึงนิยมซื้อสินทรัพย์มั่นคงไว้ จนเกิดภาวะแห่ขายทองเพราะราคาเย้ายวนใจมาก จนร้านทองแทบจะหมดเงินสด

แต่มีแบรนด์หนึ่ง ที่แม้จะเจอภาวะเช่นเดียวกัน แต่ยังมีออเดอร์สร้างรายได้เข้ามา นั่นคือ ร้าน “ต้นมะขามช่างทอง”

ปัจจุบันเป็นทายาทรุ่น 4 ที่รับช่วงดูแลกิจการจากรุ่นทวด สู่รุ่นตา มาถึงรุ่นแม่และพ่อ จนมาถึง คุณธามารีน เจริญพิทักษ์ หรือ คุณเติ้ง ชายหนุ่มผู้ไม่เคยชอบงานทอง-จิวเวลรี แต่หลงรักและสนุกกับงานซ่อมหนังสือเก่า เป็นกลุ่มคนไทย 1 ใน 5 คนแรกที่เรียนจบด้านบุ๊กอาร์ตแอนด์คราฟท์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ

Advertisement

“ได้มีโอกาสช่วยงานจิวเวลรีของทางบ้าน หลังเรียนจบ ส่วนใหญ่อยู่หน้าร้านช่วยขาย ทำให้รู้สึกว่าคงต้องมา ช่วยที่บ้านเต็มตัว” คุณเติ้งเล่าถึงการมารับช่วงกิจการ

ร้านต้นมะขามช่างทองดั้งเดิมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มีอายุราว 110 ปี (ก่อตั้งปี 2453) คุณเติ้งเล่าว่าเป็นคุณทวดซึ่งเป็นช่างทองที่ประเทศจีนมาตั้งรกรากรับทำทองจนมาเปิดเป็นร้านทอง เดิมชื่อว่า “กวง เวิ่น เซียง” มีความหมายว่า รุ่งเรืองและสว่างไสว แต่คนอ่างทองนิยมเรียกจนติดปากว่า “ร้านทองต้นมะขาม” เพราะมีมะขามต้นใหญ่ขึ้นอยู่กลางร้าน จึงยึดเป็นชื่อร้านไปเลย จนมาถึงรุ่นคุณแม่ขยับร้านทอง แตกสาขาเข้ามาในกรุงเทพฯ ที่ซอยนายเลิศ ถนนวิทยุ และสาขาในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม เป็นร้าน Fine Jewelry และรับสั่งทำ Customer made โดยมีคุณพ่อเป็นผู้ออกแบบลวดลายทอง เพราะคุณพ่อเรียนจบจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้านการออกแบบเท็กซ์ไทล์ โดยลายที่คุณพ่อทำจะผสมผสานระหว่างลายทองของไทยกับลายทองของจีนซึ่งเป็นลายของทวดตั้งต้นไว้ และเป็นคนแรกที่นำ Pink Gold กับ White Gold มาสานเป็นคนแรก

Advertisement

ซึ่งถือเป็นข้อดีที่รุ่นแม่ขยายธุรกิจในรูปแบบการรับสั่งทำ ได้ลูกค้ากระเป๋าหนักรสนิยมดีเป็นฐานลูกค้าประจำ เมื่อเจอภาวะคนส่วนใหญ่แห่ขายทอง และรวมถึงการต้องอยู่แต่บ้านเพื่อหยุดเชื้อโรคโควิด-19 ทุกกิจการหยุดชะงักในช่วงที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่นิ่งๆ ร้านต้นมะขามก็ยังขายได้ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ยังสั่งทำ ขณะที่ทองที่คนนำมาขาย แต่ช่วงโควิดไม่สามารถขายต่อในต่างประเทศได้ ก็ยังนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องประดับได้

ปัจจุบันร้านทองและจิวเวลรีสาขาซอยนายเลิศปิดตัวแล้วตั้งแต่ยุควิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 โดยคุณเติ้งปรับเป็นออฟฟิศแทน ใช้เป็นสถานที่สำหรับคิดงาน ฝึกปรือฝีมือช่างทองของคุณเติ้ง และเปิดเวิร์กช็อปสอนทำเครื่องประดับเงิน

จนมาถึงรุ่นคุณเติ้งบริหารงาน มีการขยายสาขาร้านทองในกรุงเทพฯเพิ่มเติมที่ ออลซีซั่น, ซีดีซี เพิ่มเติมจากร้านที่อยู่ทั้งที่อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา แต่กว่าจะได้เข้ามาบริหารเต็มตัว คุณเติ้งต้องฝ่าด่านหิน นั่นคือ การได้รับการยอมรับจากช่างใหญ่ ซึ่งถือเป็นหัวใจของร้านทอง!

ความจริงเป็นเจ้าของกิจการไม่ต้องเป็นช่างก็ได้ แต่คุณเติ้งบอกว่า คุณตาบอกตลอดว่าต้องเป็น ถ้าไม่เรียนจากช่าง นั่งเป็นเถ้าแก่อย่างเดียว บอกได้เลยว่าเจ๊ง ถ้าช่างไม่ทำงานให้ ก็จบ เลยตัดสินใจไปเรียนการทำทองแถวสีลม ก่อนจะมาขอความรู้จากช่างใหญ่ที่ติดตามทวดมาจากเมืองจีน ปัจจุบันอายุ 90 ปีแล้ว เมื่อช่างเห็นความตั้งใจจริง จึงยอมสอนเทคนิคต่างๆ ให้ เช่น วิธีกินน้ำประสาน หรือการเชื่อมให้ทองประสานกัน เป็นวิธีทำแบบโบราณที่ช่างใช้เครื่องมือไม่กี่อย่างก็ทำออกมาได้สวยงาม

หลังจากได้ใจช่างใหญ่ ได้วิชาแล้ว คุณเติ้งจึงขอเข้าไปจัดระบบการผลิตสินค้า จากเดิมช่างจะเป็นอิสระมาก คนขายหน้าร้านไม่สามารถกำหนดการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ ต้องขึ้นกับช่างว่าจะทำเสร็จได้เมื่อไร ก็จะกำหนดเวลาให้ช่างเลยว่าถ้าเป็นลายนี้ แบบอย่างนี้ใช้เวลากี่วัน

เมื่อระบบเข้าที่ คุณเติ้งก็ขยายงานต่อ ทั้งทำการตลาดผ่านโซเชียล มีเดีย ในเฟซบุ๊ค ไอจี เพื่อโชว์สินค้าในร้าน รวมถึงทำคลิปวิธีการทำทองแบบโบราณ “ผมอยากทำ อยากเผยแพร่การทำทองแบบโบราณ ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจ พอคลิปออกไปทางยูทูบ เกินคาดมาก มีคนเข้ามาดูเยอะมาก แรกๆ ที่บ้านไม่มีใครสนับสนุน บอกทำไปทำไม แต่ตอนนี้หลังเกิดเหตุโควิด-19 มุมมองของคนในบ้านเปลี่ยน กลายเป็นประโยชน์ คนรู้จักเรา สั่งซื้อสินค้า ไม่เพียงในประเทศไทยที่ช่วยขยายฐานไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีฐานะเท่านั้น แต่รวมถึงได้ลูกค้าจากต่างประเทศด้วย”

ถามถึงงานหัตถศิลป์ที่สร้างสรรค์ออกมา ชิ้นไหนมีมูลค่าสูงสุด คุณเติ้งบอกว่า สร้อยสังวาลของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นอกจากนี้ร้านต้นมะขามถือเป็นความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสอ่างทอง คุณป้าใหญ่ได้ทูลเกล้าฯถวายแหวนนพเก้า และพระองค์ทรงมีรับสั่ง สั่งทำอีกจำนวนหนึ่งแจกเป็นของขวัญแก่ข้าราชบริพารเป็นประจำทุกปี

นอกจากผลงานของร้านต้นมะขาม ที่เป็นงานทำมือทั้งหมดแล้ว คุณเติ้งยังเปิดอีกธุรกิจหนึ่งที่ร่ำเรียนมา นั่นคือโปรดักชั่นเฮาส์ พร้อมๆ กับแตกไลน์ ต้นมะขาม สู่งานเครื่องประดับผู้ชาย แบรนด์ ทีเอ็มเค เมน ผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่นิยมคือ กรอบพระ ลายจะไม่เหมือนกับกรอบพระสำเร็จรูป สามารถสั่งทำได้หลายแบบตามที่ลูกค้าต้องการ และวิธีการที่ทำให้พลาสติกกันน้ำได้จริง

ปัจจุบันไม่เพียงเซียนพระ คนบูชาเมืองไทยเท่านั้นที่สั่งทำกรอบพระ ยังมีลูกค้าต่างชาติใช้บริการ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน “กลุ่มนี้จะมาเมืองไทย นำพระมาให้เลี่ยมกรอบพระ ทำให้รู้ปัญหาข้อสำคัญ นั่นคือลูกค้าจะหวงและห่วงพระ ไม่อยากทิ้งพระไว้ ทางแก้คือ เราทำ 3D Scan พระ แล้วพรินต์เป็น 3D ให้ช่างทำ ไม่ต้องใช้องค์จริง นัดหมายลูกค้าให้นำพระองค์จริงมาใส่กรอบที่หน้าร้าน สบายใจทั้งสองฝ่าย”

ส่วนเวิร์กช็อป อีกหนึ่งกิจกรรมที่คุณเติ้งทำขึ้น ให้เหตุผลคืออยากอนุรักษ์การทำทองโบราณ ซึ่งคุณเติ้งมีแผนจะเปิดเวิร์กช็อปที่ญี่ปุ่น แต่ต้องหยุดแผนไปก่อนหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด เช่นเดียวกับแผนการสาขา “ต้นมะขามช่างทอง” ในต่างประเทศ ซึ่งคุณเติ้งมองไว้แล้วว่าจะปักหมุดที่ไหน แต่ต้องหยุดแผนไว้ก่อนเช่นกัน

แต่อนาคต เชื่อว่าคงได้เห็น “ต้นมะขาม” แตกใบขยายพันธุ์ เติบใหญ่ในต่างประเทศ สร้างชื่อ เครื่องประดับทอง วิธีทำแบบโบราณของไทยงามสง่าไม่แพ้ใครในโลก

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image