คิดเห็นแชร์ : โควิด-19 มา การค้าเปลี่ยน โดย พิมพ์ชนก วอนขอพร

คิดเห็นแชร์ : โควิด-19 มา การค้าเปลี่ยน โดย พิมพ์ชนก วอนขอพร

คิดเห็นแชร์ : โควิด-19 มา การค้าเปลี่ยน โดย พิมพ์ชนก วอนขอพร

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน จากที่เราทุกคนได้ใช้ชีวิตและการทำงานเพื่ออยู่ร่วมกับการระวังโรคไวรัสโควิด-19 มาพอสมควร หลายท่านคงเล็งเห็นหรือได้ยินมาบ้างแล้วว่า ในอนาคตโลกเราคงจะเปลี่ยนไปมาก ไม่ว่าจะการใช้ชีวิต การทำงาน การท่องเที่ยว ไปจนถึงการทำธุรกิจ การผลิต และการค้าขายของภาคเอกชน โดยวันนี้ดิฉันอยากจะเน้นผลกระทบในทางการค้าค่ะ

ไวรัสโควิด-19 แสดงให้เห็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจและการผลิตระหว่างประเทศที่พึ่งพากันผ่านห่วงโซ่การผลิตโลก การปิดเมืองของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมหลายประเภท ทำให้หลายประเทศไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางที่จำเป็นในการผลิตขั้นต่อไป กลายเป็นตัวเร่งให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและห่วงโซ่การผลิตในประเทศ โดยหันมาพึ่งพาประเทศในภูมิภาคหรือประเทศตนเองเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง และยังทำให้หลายประเทศหันไปใช้มาตรการปกป้องการค้า และการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น จำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข และปกป้องอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นการปรับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ใช่เพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยมีดังนี้

ภาคการผลิต ไทยได้รับผลกระทบในด้านวัตถุดิบ ปัจจัยขั้นกลางที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการหยุดชะงักหรือการขาดช่วงของห่วงโซ่การผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตหรือขนส่งสินค้าขั้นกลางให้กับผู้ประกอบการไทยได้ตามปกติ กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่มสินค้าที่ไทยพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนสูง ได้แก่ ยางและพลาสติก เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มสินค้าที่ห่วงโซ่การผลิตของไทยเกี่ยวเนื่องกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐสูง ได้แก่ เครื่องจักรกลอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก

Advertisement

ภาคการส่งออก ปัญหาห่วงโซ่การผลิตขาดช่วง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศสูง เช่น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า (ไทยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน) อีกทั้งประเทศคู่ค้าติดล็อกดาวน์ กระทบการส่งออกไปตลาดสำคัญ คือ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประกอบกับการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ล่าช้าจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยกดดัน

แต่ในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2563 ภาคส่งออกไทยขยายตัวร้อยละ 1.19 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกหดตัวร้อยละ 0.96 โดยแม้จะมีการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูง แต่สินค้ากลุ่มอื่นยังเติบโตดีโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เช่น ไก่สด แช่เย็นและแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ที่ยังน่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องหลังโควิดคลี่คลาย จากความต้องการความมั่นคงทางอาหาร

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.5 อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ จากที่เคยได้รับผลกระทบสูงจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน สะท้อนว่าผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวได้ ประกอบกับการส่งออกที่เติบโตและกระจายตัวในหลายตลาดมากขึ้น เช่น สหรัฐ ฮ่องกง สิงคโปร์ กัมพูชา ไต้หวัน เป็นต้น และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี และนิวซีแลนด์ ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเหล่านี้ฟื้นตัวกลับมา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยอาจต้องเผชิญกับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าที่เข้มงวดขึ้น

Advertisement

ภาคการลงทุน อาจมีการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติออกจากจีนมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนมาไทยคือ การสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลสาธารณสุข และการจัดการให้การผลิตและการขนส่งสินค้าดำเนินการได้ตามปกติมากที่สุด รูปแบบการผลิตของไทยน่าจะปรับตัว โดยเน้นสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน อาจนำเทคโนโลยี/ระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์มาใช้มากขึ้น รวมทั้งอาจพัฒนาระบบติดตามสถานะวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต และหาแหล่งวัตถุดิบทางเลือก

ภาคการบริโภค พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการจะผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยมีผู้บริโภคกลุ่มใหม่ เช่น ผู้สูงอายุและมีบริการทางเลือกที่สอดรับวิถีชีวิตใหม่ เช่น แอพพลิเคชั่นออกกำลังกาย ช่องทางการซื้อขายสินค้าอาหารและบริการออนไลน์ นอกจากนี้ กลุ่มสินค้า/บริการที่ใช้เป็นประจำและไม่ต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจมาก เช่น อาหารและเครื่องดื่มสินค้าสุขภาพและความงาม มีแนวโน้มจะฟื้นตัวเร็วกว่ากลุ่มสินค้าแนวยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งรายได้ที่ไม่มั่นคงในช่วงเผชิญโควิดจะทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ ดิฉันคิดว่าจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจการค้าของไทยต้องปรับเปลี่ยน โดยในด้านห่วงโซ่การผลิต ต้องยืดหยุ่น ลดการพึ่งพาแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป และกระจายความเสี่ยง โดยเลือกแหล่งลงทุนจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนแรงงานที่มีคุณภาพและอัตราค่าจ้างไม่สูงเกินไป ระยะทางไม่ไกลจากไทยเพื่อความสะดวกในการดูแลการผลิตอย่างใกล้ชิด เป็นตลาดขนาดใหญ่หรืออยู่ใกล้ตลาดเป้าหมาย และความพร้อมและการขจัดอุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบเรื่องภาษี แรงงาน และกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

โดยภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและประเทศเป้าหมาย สำหรับด้านการผลิต ไทยควรรักษาและพัฒนาความสามารถในการผลิตสินค้าจำเป็น อาทิ สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้า/บริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข ให้มีความสะอาดปลอดภัย และเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศ

เพื่อรองรับสิ่งไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image