‘บีอีเอ็ม’ จัดเต็ม ‘ทางด่วน-รถไฟฟ้า’ ฝ่าวิกฤต ‘โควิด’

‘บีอีเอ็ม’ จัดเต็ม ‘ทางด่วน-รถไฟฟ้า’ ฝ่าวิกฤต ‘โควิด’

รถไฟฟ้า – การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง ซึ่ง นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ระบุว่า ในบ้านเรามีน้อยธุรกิจมากที่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วจะได้รับผลกระทบเชิงบวก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก นั่นคือธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจผลิตประปา เป็นต้น ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อีกทั้งกว่าจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นก็กินระยะเวลานาน อาทิ ธุรกิจทัวร์ และสายการบิน

บีอีเอ็ม ถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยปริมาณการเดินทางทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าเริ่มลดลงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2563 ทำให้ไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 507.59 ล้านบาท ลดลง 40.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 858.98 ล้านบาท จากสัดส่วนรายได้หลัก แบ่งเป็น ทางด่วน 70% และรถไฟฟ้า 30%

ด้านของต้นทุนการให้บริการ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 44 ล้านบาท หรือ 1.8% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ขณะที่ ค่าตัดจำหน่ายลดลงเนื่องจากต้นทุนสิทธิในการใช้ประโยชน์บนงานก่อสร้างทางด่วนของทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอ บี ซี ตามสัญญาสัมปทานฉบับเดิมได้ถูกตัดจำหน่ายหมดแล้ว

สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย และค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ระยะที่ 2 สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง ดอกเบี้ยของเงินกู้ที่เคยบันทึกเป็นต้นทุนโครงการได้ถูกบันทึกเป็นดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุนตามมาตรฐานบัญชี

Advertisement

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะส่งกระทบในระยะสั้น โดยผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะทยอยกลับมาใน 1-2 เดือน ซึ่งเฉพาะผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเริ่มทยอยกลับมาแล้ว 50% หรือประมาณ 1.6 แสนคนต่อวัน จากช่วงสถานการณ์ปกติที่มีผู้โดยสาร 4 แสนคนต่อวัน ส่วนทางด่วนปัจจุบันปริมาณผู้ใช้กลับมา 80-85% แล้ว หรือประมาณ 9 แสนเที่ยวต่อวัน จาก 1.2 ล้านเที่ยวต่อวัน ซึ่งคาดว่า หลังจากปลดล็อคทั้งหมดผู้ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะกลับมาเป็นปกติ

“ คาดว่าไตรมาส 2/2563 จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากได้รับแรงกระแทกจากเดือนเมษายนเต็มๆ เว้นแต่จะเกิดไวรัสโควิด-19 แปลงร่าง ซึ่งการที่รายได้หายไปทำให้ต้องหันกลับมาดูค่าใช้จ่าย หรือทำอย่างไรให้รายได้กลับมาโดยเร็วที่สุด ส่วนในไตรมาส 3/2563 ปริมาณการเดินทางทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าจะดีขึ้นทั้งหมด และกลับเข้าสู่ภาวะปกติเต็มสูบในไตรมาส 4/2563 ฉะนั้น จึงมั่นใจว่า ปลายทางธุรกิจจะต้องปิดบวกแน่นอน ซึ่งปีนี้บริษัทไหนมีกำไรก็เท่แล้ว ”

ทั้งนี้ หลังจากภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ประกอบกับบริษัทมีความพร้อมในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า จึงคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น เพื่อให้ทุกเที่ยวของการเดินทางในเอ็มอาร์ทีปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งบีอีเอ็มให้ความร่วมมือภาครัฐดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสและรับผิดชอบต่อสังคม

Advertisement

โดยที่ผ่านมาได้เพิ่มมาตรการการดูแลด้านสุขอนามัย จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดสำหรับผู้โดยสาร โดยมีการเพิ่มจุดให้บริการอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ของทั้ง 53 สถานีกว่า 800 จุด ได้แก่ ทางเข้าบริเวณจุดตรวจรักษาความปลอดภัย ห้องออกบัตรโดยสารและที่ชานชาลาเพื่อสุขอนามัยที่ดีตลอดการเดินทาง รวมทั้งมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในขบวนรถช่วงเวลาเร่งด่วนเข้าเย็น เพิ่มรอบทำความสะอาดเช็ดถูพื้นผิวสัมผัสร่วมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงและได้มีการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีการรักษาระยะห่างทางกายภาพ (โซเชียล ดิสแทนซิ่ง) บริเวณสถานีและในรถไฟฟ้า โดยเพิ่มขบวนรถเสริมเป็น 49 ขบวนและเพิ่มความถี่ในการเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น เพื่อลดความแออัดในขบวนรถไฟฟ้าและเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและส่วนรวม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวกบ้างสาขาบ้างก็ต้องขออภัยและขอความเห็นใจ

ส่วนของทางด่วนบริษัทได้เร่งดำเนินการนำเทคโนโลยีการจ่ายค่าผ่านทางโดยไม่ใช้เงินสด มาใช้เพื่อลดการแออัดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางและลดการสัมผัสเงินสด คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า 1 บาท ตามกรอบระยะเวลาที่มีการปรับขึ้นทุกๆ 2 ปี แต่ราคาเริ่มต้นและสูงสุดยังอยู่ที่ 16-42 บาท เหมือนเดิม โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป พร้อมทั้งมีโปรโมชั่นและสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

“ บีอีเอ็มพร้อมสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มที่ในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดซ้ำ ซึ่งที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณผู้ใช้บริการทุกคนที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เป็นอย่างดี บริษัทขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคนก้าวผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกัน มั่นใจประเทศไทยจะกลับมาสู่ภาวะปกติแน่นอน ”

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะได้งานระบบขบวนรถไฟฟ้า บริหารเดินรถและซ่อมบำรุงทั้งสายทาง ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยมั่นใจว่าบริษัทมีความพร้อมด้านคุณสมบัติ ความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านต้นทุนทางการเงินที่สู้ได้ ประกอบกับบริษัทมีประสบการณ์ด้านพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ามาหลายสถานี และมีจำนวนขบวนรถไฟฟ้ามากถึง 75 ขบวน โดยสายสีน้ำเงิน 54 ขบวน และสายสีม่วง 21 ขบวน ทำให้มีความสามารถในการบริหารต้นทุนได้ดีกว่าคู่แข่ง และคาดว่าจะมีผู้เข้าประมูลไม่น้อยกว่า 3 ราย

ทั้งนี้ ยังสนใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงเดิมช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ที่ บริษัทดำเนินการอยู่ ซึ่งมั่นใจในประสบการณ์การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินการขุดเจาะอุโมงค์ รวมถึงการบริหารงานเดินรถ และจากที่บริษัทสามารถใช้ศูนย์ซ่อมร่วมกับบริเวณศูนย์ซ่อมสายสีน้ำเงินทำให้ต้นทุนของบริษัทต่ำ เราพร้อมมากในการเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 โครงการ หากรัฐบาลเปิดให้เอกชนร่วมประมูล

“เมื่อเปิดให้บริการจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าเติบโตถึง 10-20% ต่อปี ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าแน่นอน” นายสมบัติกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image