‘เฟทโก้’ เชื่อการเมืองไทยไร้น้ำหนักกดดันตลาด ชี้หากมีการปรับเปลี่ยน ขอคนเข้าใจเศรษฐกิจจริงมาทำงาน

เฟทโก้เชื่อการเมืองไทยไร้น้ำหนักกดดันตลาด ชี้หากมีการปรับเปลี่ยน ขอคนเข้าใจเศรษฐกิจจริงมาทำงาน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า บรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้ ไม่ได้มีน้ำหนักที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนมากนัก โดยประเมินเสถียรภาพทางการเมือง หรือแง่ของจำนวนเสียงของรัฐบาล เบื้องต้นคงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ส่วนการเปลี่ยนตัวคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการโยกย้ายในฝ่ายการเมือง มองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว จึงเชื่อว่านักลงทุนคงไม่ได้ให้น้ำหนักในปัจจัยนี้มากนัก แต่หากจะเปลี่ยนใครเข้ามาก็อยากจะให้เลือกคนที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ และความสามารถอย่างแท้จริง เพราะการปรับเปลี่ยนบุคคลไม่ได้มองว่ามีผลมากนัก โดยในแง่ความมีเสถียรภาพ ในขณะนี้มองว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพมากกว่าการช่วงที่เริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลแรกๆ ด้วยซ้ำ ในแง่ของเสียงที่มีมากขึ้น เพียงแต่ในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น ก็อยากให้การปรับเปลี่ยนบุคคลเข้ามาทำงานด้านการเมือง ขอเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และเข้าใจระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจประสบปัญหาค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องมีคนที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจจริงๆ เข้ามา หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนี้ มองว่าภาครัฐยังจำเป็นต้องฟื้นมาตรการช้อปช่วยชาติมาใช้อีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว หลังจากรัฐจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่การจ่ายเงินเยียวยาบุคคลทั่วไป 5,000 บาท และการเยียวยาเกษตรกร โดยในตอนนี้จะต้องหาวิธีทำอย่างให้ก็ได้ ให้กลุ่มคนที่ยังมีศักยภาพในการใช้จ่าย หรือยังมีงานทำอยู่ ต้องออกมาช่วยใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งข้อดีคือ ที่ผ่านมามีการปิดประเทศ กลุ่มคนที่มีกำลังในการใช้จ่ายก็ไม่ได้นำเงินออกมา เพราะไม่มีที่ให้ไป ห้างสรรพสินค้าไม่เปิด ไปต่างประเทศไม่ได้ จึงเป็นการเก็บเงินไว้ไปในตัว โดยเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีการวางแผนไว้แล้วว่า เดือนใดจะไปต่างประเทศ จะไปที่ใดบ้าง ใช้เงินในส่วนของอะไรบ้าง ซึ่งพอโควิด-19 ระบาด ก็ทำให้ไปต่างประเทศไม่ได้ จึงอยากให้นำเงินมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศทดแทน ซึ่งจะเป็นการช่วยเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

อยากให้รัฐบาลฟื้นช้อปช่วยชาติกลับมาอีกครั้ง และทำให้มากกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการกระตุ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งรัฐสามารถประหยัดเงินได้มากขึ้น หากฟื้นช้อปช่วยชาติ เพราะเป็นการใช้มาตรการด้านภาษี อาทิสามารถการซื้อของต่างๆ ตั้งวงเงินให้สามารถลดหย่อนภาษีได้คนละ 50,000 บาท เชื่อว่าจะมีเงินสะพัดเข้ามาในระบบเร็วและมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้เร็วกว่าการปล่อยให้ฟื้นตัวเองไปตามธรรมชาติ หรือตามมาตรการที่รัฐพยายามทำออกมา แต่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง กว่าจะเห็นผลเพิ่มเติมนายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือนมิถุนายน 2563 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 21% มาอยู่ที่ระดับ 96.93 นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนมากที่สุด รองลงมาคือ นโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาส 2/2563 รวมถึงการคลี่คลายของโควิด-19 และการค้นพบวัคซีนป้องกัน ขณะที่ความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว รวมถึงความกังวลหากโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ขึ้น โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ

Advertisement

ขณะนี้ยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา เพราะดัชนีฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดขึ้นมาสูงมากในช่วงเพียง 2 เดือน และน่าจะอยู่ในช่วงการเริ่มฟื้นตัว โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาดัชนีปรับตัวขึ้น 3% แต่ยังติดลบอยู่15 % นับตั้งแต่ต้นต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยนักลงทุนยังคงรอดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายหลังการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ในระยะสั้นตลาดหุ้นเคลื่อนไหวแคบอยู่ แต่ในระยะถัดไปมองว่า โอกาสที่ดัชนีปรับตัวขึ้นแรงหรือลงแรงคงมีไม่มากนัก และหากประเมินจากภาพรวมตลาดในตอนนี้ เชื่อว่าดัชนีมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นทดสอบระดับกว่า 1,400 จุด และปลายปีก็น่าจะเห็นปิดในบริเวณนี้ แม้ระหว่างทางจะมีการปรับลดลงได้ ซึ่งระดับดัชนีในปัจจุบันก็อยู่ที่ 1,360 จุดแล้วนายไพบูลย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image