“ฐากร”ดันไทย เวิร์กฟรอมโฮมฮับ ดึงต่างชาตินั่งทำงาน พัฒนาOTT ไทย สู้โควิด-19

“ฐากร”ดันไทย เวิร์กฟรอมโฮมฮับ ดึงต่างชาตินั่งทำงาน พัฒนาOTT ไทย สู้โควิด-19

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. เตรียมเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ให้ผลักดัน 2 โครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย การเสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์กฟอรมโฮม ฮับ) โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อจูงใจบุคลาการจากบริษัทไฮเทคข้ามชาติเข้ามาพำนักและทำงานในประเทศไทย ทั้งนี้ การทำงานโดยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดขึ้น ทำให้การเวิร์กฟอร์มโฮมเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยง

“จุดเด่นของประเทศไทยสามารถพัฒนาในลักษณะเวิร์กฟอร์มโฮมในระดับโลก โดยสิ่งที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุน คือ การให้ความสะดวกในการออกใบอนุญาตทำงาน (เวิร์กเพอร์มิท) ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น, การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษี เพื่อให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาสามารถอยู่ในระบบจัดเก็บรายได้ของไทยได้ ประกอบกับประเทศไทยมีจุดแข็งที่มีระบบสาธารณสุขที่ดี เห็นได้จากการจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, มีโครงข่าย 5G ประเทศแรกในอาเซียนและเปิดให้บริการแล้ว, มีค่าครองชีพต่ำ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้น รัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจสนับสนุนให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาเลือกที่จะพำนักอย่างถาวรในประเทศไทย อาทิ การกำหนดเงื่อนไขหากเข้ามาทำงานในประเทศไทย 5-7 ปี สามารถขอสัญชาติไทยได้” นายฐากร กล่าวว่า

นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ กสทช. จะเสนอโครงการพัฒนาโอทีทีแพลตฟอร์มของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยลดการพึ่งพาโอทีทีแพลตฟอร์ม อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์ ของต่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคนไทยใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ ทำให้รายได้ออกไปยังต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้น การมีโอทีทีแพลตฟอร์ม จึงเป็นการรับมือกับโอทีทีจากต่างประเทศที่ดีที่สุด ที่ผ่านมาการพัฒนาโอทีทีแพลตฟอร์มของประเทศไทยมีปัญหาจากการมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การมี 5G เป็นประเทศแรกน่าจะทำให้การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับคนไทยเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจนำจุดแข็งของประเทศไทยมาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มเฉพาะในแต่ละด้าน เพื่อเสริมจุดแข็งให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทย เช่น โอทีทีแพลตฟอร์มสำหรับโรงพยาบาลอัจริยะ, โอทีทีแพลตฟอร์มด้านการเกษตร และโอทีทีแพลตฟอร์มด้านการขนส่ง เป็นต้น

“กสทช. จะเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ให้ผลักดัน 2 โครงการดังกล่าว เป็นวาระแห่งชาติในการปรับตัวฟื้นฟูเศรษฐกิจรับมือผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยหากที่ประชุมเห็นชอบคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ จะเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนและการระดมสมองจากกระทรวงเศรษฐกิจ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง” นายฐากร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image