‘สร.กสท’ แง้มโควิด-19 ทำควบรวมกิจการ ‘แคท-ทีโอที’ เคลื่อน จ่อจดทะเบียนตั้งบ.ช่วงปีใหม่

‘สร.กสท’ แง้มโควิด-19 ทำควบรวมกิจการ ‘แคท-ทีโอที’ เคลื่อน จ่อจดทะเบียนตั้งบ.ช่วงปีใหม่

รายงานข่าวจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ สร.กสท ระบุถึงความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้มีการประชุมคณะทำงานกำกับและติดตามการควบรวมกิจการของแคท และทีโอที โดยมีนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน โดยมีการติดตามความคืบหน้าของการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายและสัญญาได้ บริษัท แซนด์เลอร์ เอ็มเอชเอ็ม ลงนามสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 สำหรับบริษัทที่ปรึกษาด้านการควบรวมที่จะต้องพิจารณาข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่ายสินทรัพย์ในการให้บริการ ด้านเทคนิค กระบวนการทำงานและอื่นๆ เพื่อมาทำแผนธุรกิจ ออกแบบโครงสร้าง และบริษัทที่ปรึกษาด้านบุคคลากร ที่จะต้องพิจารณาจัดทำโครงสร้างและผลตอบแทน สวัสดิการพนักงานทั้ง 2 ด้าน อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าประมาณกลางเดือนมิถุนายนนี้จะสามารถลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างนี้คณะทำงานฯ ได้มีการจัดทำแผนการใช้โครงข่ายร่วมกัน และแผนการโรมมิ่งโมบาย ซึ่งในบางพื้นที่ได้มีการทดสอบใช้โครงข่ายร่วมกันของฟิกซ์บรอดแบนด์ เช่นที่จังหวัดราชบุรี และเรื่องการใช้งานดาวเทียม มีการหารือเกี่ยวกับบริการบรอดคาสติ้ง ผ่านโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก) ในการใช้งานทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน เช่น อุปกรณ์และบุคคลากรควบคุมการปฏิบัติงาน ส่วนบริการถ่ายสัญญาณดาวเทียมผ่านรถยนต์ถ่ายทอด ผ่านสถานีดาวเทียมฯ และโครงข่ายระหว่างประเทศ จะมีการทดสอบเชื่อมโยงลิงค์ระหว่างสถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 4 จ.สตูล ของแคทกับสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบาราของทีโอที เพื่อเป็นเส้นทางสำรองซึ่งกันและกันในการให้บริการวงจรระหว่างประเทศแก่ลูกค้า และเป็นต่อขยายการเชื่อมโยงข้อมูลในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของแคทเขตใต้ และข้อมูลของทีโอทีในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ กรณีผลกระทบต่อการดำเนินงานการควบรวมกิจการล่าช้า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และบริษัทที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ เช่น การจัดจ้าง บริษัทที่ปรึกษาล่าข้า, กิจกรรมที่ต้องดำเนินการร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา, กิจกรรมที่ต้องเผยแพร่เพื่อสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับพนักงานทั่วประเทศ, กิจกรรมที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานนอกสถานที่ร่วมกันของแคทและทีโอทีรวมถึงลูกค้าและคู่สัญญา, การประชุม 4 ฝ่าย ผู้บริหารแคท, ทีโอที, สหภาพฯ แคทและทีโอที ที่ยังไม่ได้มีการเจรจากัน เป็นต้น จึงมีเหตุจำเป็นต้องขยายเวลาการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เดิมวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เป็นปลายเดือนธันวาคมปี 2563 หรือต้นเดือนมกราคม 2564

ขณะที่ คณะทำงานกำกับและติดตามการควบรวมกิจการของแคท และทีโอที เห็นว่า ควรมีการสรุปกรอบระยะเวลาการขอปรับขยายแผนการดำเนินงานควบรวมกิจการออกไป แต่เมื่อรวมเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 1 ปีและเสนอต่อนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งให้แก้ไขชื่อจากเดิม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และให้เห็นชอบในการยกเว้นให้บริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (เอ็นบีเอ็น) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (เอ็นจีดีซี) ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ.2504 เป็นต้น

Advertisement

สร.กสท เชื่อว่าในหลายเรื่องที่คณะทำงานฯ ได้หารือ และมีการทดลองใช้โครงข่ายเชื่อมโยงกัน จะเป็นจุดแข็งขององค์กรใหม่ ในการนำทรัพย์สินมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน สร้างความสามารถในการแข่งขันเติบโตได้อย่างยั่งยืนและสามารถประกอบธุรกิจเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐด้านความมั่นคงและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมหรือดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image