‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ดิ่งสุดรอบ 10 ปี 10 เดือน ชี้ไทยเข้าสู่ภาวะ ‘เงินฝืด’ แต่ยังไม่น่ากลัว

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน .. ดิ่งสุดรอบ 10 ปี 10 เดือน ชี้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่ยังไม่น่ากลัว

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 99.76 ลดลง 3.44% เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562 ถือเป็นการติดลบมากสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน นั้บตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 ที่ติดลบ 4.4% โดยส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค หลังจากติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน ซึ่งค่าดัชนีล่าสุดปรับลดลงไปเท่ากับช่วงที่เกิดวิกกฤตซับไพร์ม หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นมีมากกว่าสินค้าที่มีราคาลดลง จึงไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการอย่างครบถ้วน ที่หากจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริง จะต้องเป็นการลดราคาของสินค้าจำนวนมาก ซึ่งในเดือนพฤษภาคม สินค้าที่ปรับราคาลดลงมากๆ เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันในเดือนนี้ ปรับลดลงกว่า 27% รวมถึงราคาอาหารสด อาทิ ผักสดที่ปรับราคาลดลงสูง หากเทียบกับปี 2562 ที่มีฐานราคาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดปีนี้ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ปีนี้ราคาปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยยืนยันว่าถึงแม้จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในความหมายแคบ แต่ตัวราคาและตวามเคลื่อนไหวต่างๆ ยังไม่น่ากังวล เพราะปัจจัยที่สะท้อนอยู่ในเงินเฟ้อพื้นฐานยังบวกได้อยู่

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง เป็นเพราะการระบาดไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานขยายตัวที่ 0.01% มาอยู่ที่ระดับ 102.51 สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 422 รายการ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสินค้าปรับราคาสูงขึ้น 195 รายการอาทิ ข้าวสารเหนียว น้ำมันพืช เนื้อสุกร ไข่ไก่ กระเทียม กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเช่ารถตู้ ค่าเช่าบ้าน ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง 151 รายการ อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า แก๊สโซฮออล์ 91 แก๊สโซฮอลล์ 95 แก๊สโซฮอลล์อี 20 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ค่าน้ำปะปา พริกสด และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา76 รายการ

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า ปีนี้ฐานราคาน้ำมันค่อนข้างต่ำ หากเทียบกับปีก่อน ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเชื่อว่าทั้งปีนี้ ราคาน้ำมันจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 40-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้เงินเฟ้อปีนี้ยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันค่อนข้างมาก ทำให้สนค.ยังไม่ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อสำหรับปีนี้โดยยังคงไว้ที่ระดับ -0.2 ถึง -1.0% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ที่ -5.8 ถึง -4.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 30.50-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยยังไม่น่ากังวล แม้จะมีการติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือน แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการดูแลและยังไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หากการส่งออกยังสามารถขับเคลื่อนได้อยู่ และราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้นบ้าง ท่ามกลางการอุดหนุนเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้านสาธารณูปโภค ซึ่งจะเป็นตัวช่วยทำให้เงินเฟ้อไม่ปรับสูงขึ้นมากกว่านี้

อยากให้การปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และทยอยปลดล็อกมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีการฟื้นฟูการใช้จ่าย เศรษฐกิจในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้มากขึ้น เพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในอนาคต หากสามารถทยอยเปิดการท่องเที่ยวข้ามจังหวัดได้มากขึ้น จะมีเศรษฐกิจในประเทศเข้ามาเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยสินค้าเกษตรบางรายการที่หายไป เป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่หายไปทำให้หากรัฐบาลมีมาตรการอะไรออกมากระตุ้น ก็เห็นด้วย อยากให้เที่ยวไทยกันก่อน และฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศร่วมกัน เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นนางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image