ก.อุตยื่นสภาพัฒน์ฯวันนี้ ของบฟื้นฟูฯ 1.4 หมื่นล.ช่วยเอสเอ็มอี-แรงงาน-เกษตรชุมชน

ก.อุตยื่นของบฟื้นฟูศก.ฐานราก 1.4 หมื่นล้านต่อสศช. 5 มิ.ย. มั่นใจสิ้นปีงบ 64 ช่วยปชช. 1.25 ล้านคน เกิดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจเฉียดแสนล้านบาท ส.อ.ท.แนะเน้นอุตฯแปรรูปเกษตรและอาหาร

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า วันที่ 5 มิถุนายน กระทรวงฯจะเสนอโครงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อดำเนินโครงการตั้งแต่วันได้งบจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 คาดว่าจะช่วยประชาชนได้ประมาณ 1.2 ล้านคน เกิดมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามวงเงินที่เสนอต้องอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการของสศช. ด้วย แต่กระทรวงฯมั่นใจว่าโครงการทั้งหมดจะช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุดแน่นอน เพราะได้หารือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ชุมชน และเกษตรกรอย่างรอบด้านแล้ว

แหล่งข่าว กล่าวว่า จากวงเงินที่เสนอเป็นโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) มากที่สุดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เน้นชูโครงการอุตสาหกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศรองรับวิถีความปกติใหม่ มีเป้าหมายผลผลิตครอบคลุม 14,150 กิจการ ครอบคลุม 500 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 96,000 ล้านบาท โดยมีทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมฝ่าวิกฤตโควิด-19 มุ่งสู่วิถีความปกติใหม่(นิว นอร์มอล) การดำเนินงานแบ่งเป็น 4 ด้าน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มผู้ประกอบการ บุคลากร 2.ประชาชน อาชีพอิสระ 3.ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และ4.เกษตรกร ธุรกิจเกษตร ซึ่งปัจจุบันกสอ.ได้งบประมาณ 2563 เริ่มดำเนินการนำร่องไปแล้ว เพราะเป็นภารกิจด่วนต้องช่วยเหลือทั้ง 4 กลุ่ม

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง(สปอ.)ของบรองลงมาประมาณ 1,000 ล้านบาท เน้นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค ของมหาวิทยาลัยทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนา อาทิ การพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ต่อหัวของประชาชน เป็นแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เสนอพัฒนาโครงการสูบน้ำจากขุมเหมืองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วงเงิน 53 ล้านบาท ใช้แหล่งน้ำดิบจำนวน 20 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มเติม 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่ ประชาชนและเกษตรกรรอบขุมเหมืองได้ประโยชน์ 4,000 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานของคนในพื้นที่ 500 คน ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรม/สินค้าวัสดุก่อสร้าง

แหล่งข่าว กล่าวว่า ด้านกรอ.เสนอโรงงานเพื่อแปลงเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 100-200 ล้านบาท เนื่องจากพบว่าโรงงานจำนวนมากเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ หยุดกิจการกระทันหัน ขาดรายได้ การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อขอรับเงินทุน ผ่านการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร การขอรับเงินทุนจากสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จะช่วยผู้ประกอบการในการฟื้นฟูได้เร็วยิ่งขึ้น และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ของบ 600 ล้านบาท เพื่อเตรียมการด้านการมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ช่วยผู้ประกอบการในการลงทุนด้านการมาตรฐานเพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

Advertisement

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ของบ 100-200 ล้านบาท ผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ของบ 300 ล้านบาท เสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยปรับเปลี่ยนไร่อ้อยให้เหมาะกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมุ่งสู่เกษตรแปลงใหญ่ สนับสนุนพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีแจกให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ในฤดูการผลิต 2563/64 จำนวน 20,000 ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการ 4,000 ราย พร้อมปรับพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นเกษตรแปลงใหญ่ 100,000 ไร่ และจัดทำฐานข้อมูลระบบชี้นำเตือนภัยและบริหารจัดการไร่อ้อย ครอบคลุมการจ้างเกษตรกรชาวไร่อ้อย หรือ อาสาสมัครกลุ่มเรียนรู้ 5,000 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image