‘ไทยพาณิชย์’ หั่นจีดีพีปี 63 ดิ่งหนัก ลบ 7.3% เหตุท่องเที่ยวหาย-ส่งออกหด เศรษฐกิจโลกโตต่ำสุดรอบ 90 ปี

ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีปี 63 ดิ่งหนัก ลบ 7.3% เหตุท่องเที่ยวหายส่งออกหด เศรษฐกิจโลกโตต่ำสุดรอบ 90 ปี

นายยรรยง ไทยเจริญ ตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2563 ติดลบมากขึ้นอยู่ที่ 7.3% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะติดลบ 5.6% เนื่องจากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก 2 ตัว ได้แก่ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนไม่สามารถขยายตัวได้และมีแนวโน้มหดตัวลงแรง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงเหลือ 9.8 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งปีอยู่ที่ 13.1 ล้านคน หรือหายไปกว่า 70% ของปี 2562 ที่เข้ามาเกือบ 40 ล้านคน ส่วนภาคการส่งออกของไทยจะติดลบ 10.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะลอตัว และการค้าโลกหดตัวลง โดยในปี 2563 อีไอซีได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงเป็นติดลบ 4% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 3% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 90 ปี ตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในปี 2472-2473 โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือการฟื้นตัวในลักษณะยูเซฟ ซึ่งประเมินว่าการที่จีดีพีไทยจะสามารถเติบโตได้เท่ากับปี 2562 หรือระดับเดิมก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 น่าจะใช้เวลา 2 ปี หรือฟื้นได้ในปี 2565 เพราะโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาด้านผลผลิต (ซัพพลาย) มีมากเกินความต้องการของตลาด (ดีมานด์) หลังจากเกิดการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ โดยมองว่าไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย หรือติดลบกว่า 12% จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้น

หลังจากมีการปิดน่านฟ้าของไทยที่นานขึ้นถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2 หายไป 100% ส่วนในไตรมาส 3 คาดว่าหากมีการเปิดน่านฟ้าไทย สามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แบบจับคู่ประเทศท่องเที่ยวได้ อาจจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาบ้าง แต่เชื่อว่าคงเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะความกังวลที่มีอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และข้อจำกัดด้านมาตรการควบคุมโรค รวมถึงภาครัฐของทุกประเทศ น่าจะยังให้ความสำคัญกับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้นิ่งที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับมาก่อน ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบคือ ผู้ประกอบการสายการบิน ซึ่งการบินในประเทศจะเห็นว่ายังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้อย่างเต็มที่ เพราะภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ ทำให้มีจำนวนเที่ยวบินลดลง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร นันทนาการ และการขนส่ง ได้รับผลกระทบสูงมากและฟื้นตัวช้า แต่ยังต้องหวังการท่องเที่ยวระยะใกล้ของคนในประเทศที่จะเริ่มกลับมาก่อนนายยรรยงกล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า สำหรับการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน มองว่าการใช้จ่ายจะชะลอตัวลง แม้ภาครัฐจะมีมาตรการอัดฉีดเงินให้แก่ภาคครัวเรือน เพราะการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในปี 2563 ประเมินว่าจะหดตัว 1.8% ซึ่งรายได้ของครัวเรือนลดลง หลังจากการจ้างงานและระยะเวลาในการทำงานลดลง ประกอบกับค่าแรงของแรงงานไทยโดยเฉลี่ยคงที่มาอย่างต่อเนื่อง ที่ประมาณ 14,000 บาทต่อเดือน และเพิ่มขึ้นเพียง 1% ต่อปีใกล้เคียงกับระดับเงินเฟ้อ สะท้อนภาพของกำลังซื้อที่ลดลงตาม รวมไปถึงประชาชนเริ่มหันมาออมมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความไม่แน่นอนในอนาคตทำให้การใช้จ่ายลดลง ประกอบกับความเปราะบางทางการเงินของภาระหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น ตามแนวโน้มการบริโภคและการส่งออกที่ซบเซา และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับลดลงมาก ซึ่งจะทำให้การลงทุนในโครงการใหม่ๆ ชะลอลง ส่วนโครงการเดิมที่วางแผนไว้ อาจทำตามแผนเท่านั้น

นายยรรยงกล่าวว่า ในส่วนของนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี โดยไทยมีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ธปท.ต้องให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุนทางการเงินและการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อประคับประคองฐานะทางการเงิน สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งคาดว่าหากแนวโน้มเศรษฐกิจปรับแย่ลงเกินกว่าที่คาดมาก ธปท.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้เพิ่มเติม แต่อาจมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้ ธปท.ต้องพึ่งพาเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาใช้เพิ่มเติม อาทิ การซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อช่วยดูแลดอกเบี้ยในตลาดให้อยู่ในระดับต่ำ การต่ออายุหรือปรับเงื่อนไขเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของมาตรการความช่วยเหลือที่ได้ออกมาก่อนหน้า ขณะที่ความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศ และระดับธุรกิจที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้นมาก อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นำไปสู่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ และความเสี่ยงในประเทศด้านความเปราะบางทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทย ที่อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพภาคการเงิน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะต่อไป

Advertisement

นายยรรยงกล่าวว่า นอกจานนี้ ทิศทางค่าเงินบาท คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงสิ้นปีนี้ จะอยู่ในบริเวณ 31.50-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาก จากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ จะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า แต่มองว่าโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่ามากเกินไปคงไม่เกิดขึ้น เพราะค่าเงินสหรัฐคงไม่ได้แข็งมากเหมือนในช่วงต้นไตรมาส 2 ที่เกิดภาวะตื่นตระหนก (แพนิก) ในตลาดการเงินโลก เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดี และเริ่มทยอยกลับมาเปิดเมือง และเริ่มต้นเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง ทำให้ความกังวลของนักลงทุนต่อความเสี่ยงในตลาดการเงินลดลงรวมถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดการเงินไทยค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การไหลออกของเงินทุนในปริมาณมากในระยะต่อไปมีโอกาสน้อยลง โดยในช่วงถัดจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญในการจับตามองคือโอกาสในการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ที่อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักอีกครั้ง สงครามการค้าโลกที่อาจรุนแรงขึ้น และกระทบต่อปริมาณการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐและกับจีน รวมถึงยุโรปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image