‘โกลเบล็ก’ ประเมินบาทแข็งสุดที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เชื่อ ‘ธปท.’ มีมาตรการดูแล

‘โกลเบล็ก’ ประเมินบาทแข็งสุดที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เชื่อ ‘ธปท.’ มีมาตรการดูแล

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทเบื้องต้นประเมินว่า อย่างดีที่สุดจะเคลื่อนไหวในระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับไปได้อีกหรือไม่ หากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนระดับที่คาดว่าจะแข็งค่ามากที่สุด อาจเห็นเคลื่อนไหวในระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการออกมาแทรกแซง เพื่อให้ค่าเงินเคลื่อนไหวในระดับที่เหมาะสม หลังจากได้มีการส่งสัญญาณออกมาเบื้องต้นแล้ว ทำให้เชื่อว่าค่าเงินบาทคงไม่แข็งค่าแตะระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ในปีนี้ โดยหากค่าเงินบาทแข็งกลุ่มผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง ส่วนธุรกิจการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะได้เปรียบเพราะสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินระดับที่เหมาะสม จะเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและธุรกิจไทย หากเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง และมีการส่งออกสินค้าในรูปแบบเดียวกัน อาทิ เวียดนาม ที่ส่งออกข้าวในราคาที่ไม่ได้สูงเท่าไทย อีกทั้งค่าเงินของเวียดนามก็อยู่ในระดับที่อ่อนค่ากว่าไทยด้วย

นางสาววิลาสินีกล่าวว่า ขณะนี้ประเมินว่า ไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ตามทฤษฎีอย่างแท้จริง เนื่องจากยังมีสินค้าหลายประเภทที่ราคาไม่ได้ปรับลดลงมากนัก ส่วนสินค้าที่ปรับลดลงมากๆ ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ภาวะเงินฝืดในขณะนี้ จึงกลายเป็นภาวะเงินฝืดทางเทคนิคแทน สำหรับในช่วงต่อจากนี้รัฐบาลต้องหันมาเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแบบเต็มที่ เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของประชาชนในประเทศ หดตัวลงไปสูงมาก เศรษฐกิจจึงมีความอ่อนแอลง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้บทเรียนหลายอย่าง อาทิ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านการแจกเงิน 1,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการเดินทาง การพักแรม หรือการใช้บริการร้านอาหารต่างๆ แต่มีคนบางกลุ่มนำเงินจำนวนนี้ไปผิดวัตถุประสงค์ อาทิ นำไปใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ หรือใช้จ่ายทางอื่นแทน ไม่ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวจริง ทำให้ประโยชน์ของเม็ดเงินที่ควรกระจายไปในหลากหลายพื้นที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ทำให้การออกมาตรการหรือการกระตุ้ยเศรษฐกิจในระยะถัดไป ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

กำลังซื้อในประเทศน่าจะทยอยดีขึ้น หลังจากรัฐบาลคลายมาตรการล็อกดาวน์จนเกือบเป็นปกติแล้ว ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาทำงานได้ ดำเนินชีวิตประจำวันได้มาก รวมถึงยังสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศได้ น่าจะเห็นการเปิดประเทศมากขึ้นตามลำดับ เพราะตอนนี้ยังไม่มีการเปิดน่านฟ้าออกมา จึงต้องกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้นแทนนางสาววิลาสินีกล่าว

นางสาววิลาสินีกล่าวว่า สำหรับภาคการท่องเที่ยว มองว่าปีนี้เป็นปีที่ยากมาก เพราะแม้จะกลับมาได้ แต่ก็คงไม่ได้ฟื้นตัวดีเหมือนปีที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาส 2 เป็นช่วงล็อกดาวน์ ไตรมาส 3 เป็นช่วงการปลดล็อกดาวน์ และไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยว แต่การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการท่องเที่ยวในประเทศ จะไม่สามารถกลับมาได้เหมือนเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การเดินทาง การเข้าพัก จะเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงต้นทุนของผู้ประกอบการจะสูงมากขึ้น โดยจะมีบางส่วนที่ยังไม่กล้าเดินทางเพราะยังไม่มีความมั่นใจมากพอ ทำให้การกลับมาฟื้นตัวเป็นไปอย่างลำบาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image