ก.อุตเตรียมแจงสศช.รายโครงการ หลังยื่นของบฟื้นฟูศก.ฐานราก 1.4 หมื่นล.

ก.อุตเตรียมแจงสศช.รายโครงการ หลังยื่นของบฟื้นฟูศก.ฐานราก 1.4 หมื่นล. มั่นใจปลุกศก.คึกเฉียดแสนล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน กระทรวงอุตสากรรมได้ยื่นเสนอโครงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระยะเวลาดำเนินโครงการถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 คาดว่าสัปดาห์หน้าสศช.จะเรียกหน่วยงานภายใต้กระทรวงฯไปชี้แจงถึงรายละเอียดโครงการ ความจำเป็น เป้าหมายการจ้างงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจรายพื้นที่ หลังจากนั้นสศช.จะส่งโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการได้รับงบประมาณกลับมาที่กระทรวงฯ เพื่อให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

“ตามกรอบของสศช.ที่กำหนดไว้ คือ ให้เสนอโครงการภายในวันที่ 5 มิถุนายน หลังจากนั้นจะเรียกหน่วยงานที่ของบไปชี้แจงรายละเอียด และจะแจ้งผลการกลั่นกรองและส่งข้อมูลกลับหน่วยงานที่ของบฯวันที่ 15 มิถุนายน เพื่อให้รัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงพิจารณาอีกครั้ง และเสนอครม. เป็นเกณฑ์ที่ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม วงเงินที่ขอประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)มากที่สุดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานหลักในการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ 14,150 กิจการ ครอบคลุม 500 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 96,000 ล้านบาท รองลงมาคืแ สำนักงานปลัดกระทรวง(สปอ.)ของบรองลงมาประมาณ 1,000 ล้านบาท เน้นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค ของมหาวิทยาลัยทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ต่อหัวของประชาชน

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เสนอโครงการสูบน้ำจากขุมเหมืองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วงเงิน 53 ล้านบาท ช่วยประชาชนและเกษตรกรรับมือภัยแล้ง 4,000 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานของคนในพื้นที่ 500 คน กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)เสนอโรงงานเพื่อแปลงเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 100-200 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องให้นำเครื่องจักรที่ลงทะเบียนแล้วไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ของบ 100-200 ล้านบาท ผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่

Advertisement

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ของบ 600 ล้านบาท เพื่อเตรียมการด้านการมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ช่วยผู้ประกอบการลงทุนด้านการมาตรฐานเพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ของบ 300 ล้านบาท เสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยปรับเปลี่ยนไร่อ้อยให้เหมาะกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมุ่งสู่เกษตรแปลงใหญ่ สนับสนุนพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีแจกให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ในฤดูการผลิต 2563/64 จำนวน 20,000 ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการ 4,000 ราย พร้อมปรับพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นเกษตรแปลงใหญ่ 100,000 ไร่ และจัดทำฐานข้อมูลระบบชี้นำเตือนภัยและบริหารจัดการไร่อ้อย ครอบคลุมการจ้างเกษตรกรชาวไร่อ้อย หรือ อาสาสมัครกลุ่มเรียนรู้ 5,000 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image