‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองน้ำหนักค่าบาทแข็งไม่สำคัญเท่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค่า เชื่อทั้งปีไม่แข็งกว่านี้แล้ว

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองน้ำหนักค่าบาทแข็งไม่สำคัญเท่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค่า เชื่อทั้งปีไม่แข็งกว่านี้แล้ว

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาท หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะปรับแข็งค่าขึ้น โดยการที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกหรือภาพรวมเศรษฐกิจมาก เท่ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพราะกำลังซื้อของคู่ค้าถูกกำหนดจากโควิด-19 มากกว่าค่าเงิน ซึ่งการที่ค่าเงินจะเปลี่ยนแปลง 0.25-0.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่านี้ แต่หากประเทศคู่ค้าอยู่ในบรรยากาศที่สามารถจับจ่ายได้ ก็ยังสามารถซื้อสินค้าได้ตามปกติ แต่หากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ประเทศคู่ค้าไม่สามารถซื้อสินค้าได้ เพราะต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ค่าเงินที่อ่อนลงก็คงไม่ได้ช่วยอะไร โดยปีนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าจะสามารถปลดล็อกดาวน์ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หากสามารถทำได้ ความต้องการสินค้าก็จะกลับมามีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดไปเพราะมีการปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก เมื่อเปิดเมืองกลับมาแล้ว คำสั่งซื้อสินค้าน่าจะทยอยกลับมา ทำให้ประเด็นเงินบาทมีน้ำหนักน้อยกว่าไวรัสโควิด-19 ที่จะกลับมาหรือไม่กลับมาระบาดอีกครั้งมากกว่า

นายเชาว์กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็ง มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทหลายปัจจัยปนกัน ได้แก่ สถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทย นำเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอาจสะท้อนการจัดการด้านสภาพคล่องในธุรกิจนั้นเอง หรือการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน ทำให้ปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินบาทแข็งมากขึ้นคือ การเคลื่อนย้ายเงินจากต่างชาติ กลับเข้ามาของธุรกิจไทย ทั้งการปรับพอร์ตเงินลงทุน และการรักษาสภาพคล่องในธุรกิจเอง รวมถึงการอ่อนตัวลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาปัจจัยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ จะมีน้ำหนักค่อนข้างมากกับค่าเงินบาท เพราะเวลาที่บรรยากาศ ความเชื่อมั่นต่างๆ ดีขึ้น อาทิ ทางการสหรัฐฯได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และอนุญาตให้พลเมืองในประเทศกลับมาทำงาน และดำเนินธุรกิจได้ตามปกติมากขึ้น ทั้งยังมีการรายงานตัวเลขการจ้างงาน ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ จึงเห็นภาพนักลงทุนกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้น ทำให้หุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นได้ดี ซึ่งก็ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เนื่องจากเงินดอลลาร์มักอ่อนเมื่อมีความกังวลและมีความเสี่ยงในหลายปัจจัย ซึ่งเมื่อนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลและมีความมั่นใจมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็จะอ่อนตัวลง ซึ่งเมื่อดอลลาร์อ่อนลง เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นสวนทางกัน

“เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มีปัจจัยผสมหลายอย่าง ตั้งแต่การคลายล็อกดาวน์ของสหรัฐฯ และคลายล็อกเฟส 1-3 ในประเทศ ทำให้บรรยากาศตลาดหุ้นไทยดีขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐ โดยจะเห็นดัชนีหุ้นไทยปรับระดับขึ้นมาอย่างร้อนแรง รวมถึงการปรับพอร์ตการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจไทย ซึ่งหากมองไปข้างหน้า ในระยะถัดไปประเมินว่า ความจำเป็นในการนำเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่อง น่าจะไม่ได้มีมากเท่าตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจน่าจะเริ่มมีกลับมามีกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น การเม็ดเงินหมุนเวียนของเงิน และกระแสเงินสดในระบบน่าจะมีมากขึ้น โดยหากมีการปลดล็อกดาวน์เฟส 4 ตามมา น่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆ กลับมาเริ่มต้นใหม่ได้มากขึ้นเกือบเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้มีเงินสะพัดในระบบมากขึ้น ประเด้นเรื่องการเสริมสภาพคล่องของธุรกิจน่าจะคลายตัวลง ทำให้สถาบันการเงินไม่มีความจำเป็นในการนำเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามา เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจไทย ในกรณีที่มีความจำเป็น จึงประเมินว่าค่าเงินบาทคงจะไม่แข็งค่าขึ้นภายในระยะเวลาที่รวดเร็วมากเหมือนช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วง 2 เดือนที่มีปัจจัยเฉพาะตัว” นายเชาว์กล่าว

นายเชาว์กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาททั้งปีอยู่ที่ 31.00-31.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ การกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆ อย่างสหรัฐ ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับระดับขึ้นมากๆ มีการปรับฐานลงมา และเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หรือการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์เหล่านั้นในอนาคตได้ ส่วนโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากแตะระดับ 30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เหมือนช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา มองว่าต้องมีปัจจัยพิเศษ อาทิ สหรัฐมีการปรับลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม แต่ขณะนี้มองว่าไม่น่าจัเกิดขึ้น หากการคลายล็อกดาวน์ทพให้เศรษฐกิจสหรัฐปรับตังดีขึ้นได้จริง ส่วนในปีนี้จะเห็นค่าเงินอ่อนค่าลงแตะระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐอีกหรือไม่นั้น ประเมินว่าหากเป็นไปตามที่คาดไว้ว่า การปลดล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเริ่มต้นได้ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงเม็ดเงินที่จะอัดฉีดเข้าระบบของรัฐบาลก้อน 4 แสนล้านบาท บวกกับก้อน 6 แสนล้านบาท ที่ยังใช้ไม่หมด น่าจะเพียงพอในการประคองเศรษฐกิจต่อไปได้ ซึ่งประเมินแล้วไม่น่าจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจไทยกลับมาแย่มากกว่าไตรมาส 2/2563 ที่มองว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image