‘ไทยพาณิชย์’ ชูแนวคิด ‘ทำงานได้ทุกที่’ ยันไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน เพื่อลดต้นทุน

‘ไทยพาณิชย์’ ชูแนวคิด ‘ทำงานได้ทุกที่’ ยันไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน เพื่อลดต้นทุน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าท่ีบริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทย พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่มีแผนที่จะเลิกจ้างพนักงาน เพื่อลดต้นทุนในการบริการธุรกิจ เพราะการดูแลลดต้นทุน ไม่ใช่การให้พนักงานออก โดยต้นทุนของธนาคารที่ผ่านมาก็ปรับลดลงทุกเดือน ผ่านการปรับเปลี่ยนและบริการในหลายด้าน โดยผลจากโควิด-19 ทำให้ธนาคารพิจารณาการเปลี่ยนแปลงการทำงานของพนักงาน จากที่ทำงานที่บ้าน เป็นการทำงานได้ทุกที่ ซึ่งจากการเริ่มต้นไปก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากพนักงาน สำหรับปัญหาหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือหนี้เสีย ขณะนี้กลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาก็ยังอยู่ในโครงการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ จึงยังไม่สามารถประเมินการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลได้ชัดเจน ขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่อาจจะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มหลังจากการระดมทุนผ่านหุ้นกู้อาจจะไม่สะดวกเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

นายอาทิตย์กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงเห็นการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเริ่มเห็นขนาดของปัญหาและลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้น จึงนำมาสู่มาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างเร่งด่วน เพื่อลดภาระของลูกค้าให้มากที่สุดผ่านมาตรการ พักชำระหนี้ที่มากกว่าหลายแสนราย รวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อเป็นการเยียวยาลูกค้า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยดูแลคนไม่ให้ตกงานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เมื่อโรคระบาดดูดีขึ้น ธุรกิจกลับมาเปิดอีกครั้ง ลูกค้าจะต้องมีแรงงานที่พร้อมในการกลับมาดำเนินธุรกิจใหม่อีกครั้งทันที โดยธนาคารเชื่อว่า วิกฤตโควิด-19 จะยัง ไม่จบลงง่ายๆ ซึ่งกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาแข็งแรงแบบที่เคยเป็น คงต้องใช้เวลาพอสมควร ธนาคารจึงใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาองค์กรและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผ่านยัทธศาสตร์ เอสซีบีนิวนอร์มอล โดยจากรากฐานที่แข็งแรงจากการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ทำให้ธนาคารมีขีดความสามารถในการเป็นองค์กรที่มีความตัวเบา และสามารถกำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงการปรับต้นทุนการให้บริการ และแนวทางการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ในทุกระดับ

“ธนาคารได้พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือน ภายใต้ชื่อ “Robinhood” (โรบินฮู้ด) แพลตฟอร์มฟูดเดลิเวอรีสัญชาติไทย เพื่อช่วยเหลือ และแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยไม่มีการเก็บค่าชาร์จ หรือค่าธรรมเนียมในการเข้าแพลตฟอร์ม และได้รับเงินโอนรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากผู้รับจ่ายเงินทั้งในส่วนของร้านค้า และผู้ส่งของ รวมถึงไม่เก็บค่าจีพี หรือกำไรขั้นต้น ที่คิดจากการนำยอดขายมาลบด้วยต้นทุนขาย ซึ่งค่าจีพีนับเป็นประเด็นหลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ และจะมีร้านอาหารร่วมในแพลตฟอร์มประมาณ 40,000-50,000 รายในสิ้นปีนี้” นายอาทิตย์กล่าว

นายอาทิตย์กล่าวว่า จากการแข่งขันที่สูงมากของแพลตฟอร์มบริการเดลิเวอรี่ในธุรกิจอาหาร ธนาคารต้องการช่วยผู้ประกอบรายย่อย ที่มีความสามารถในการแข่งขันไม่เท่ารายได้ ไม่ได้พัฒนามาเพื่อจะแข่งกับผู้ให้บริการรายอื่น รวมถึงยังได้ประสานกับพันธมิตรอย่างแอพพลิเคชั่นเก็ท ที่เคยเซ็นสัญญาไปก็เป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้พนักงานเท่านั้น แต่อันนี้เป็นการนำเสนอในอีกทางเลือกที่จะได้รับประโยชน์ทั้งร้านค้า ผู้ขนส่ง และผู้สั่ง โดยใช้เงินลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาท และร่วมมือกับบริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด (skootar) ที่ให้บริการแมสเซนเจอร์ออนไลน์ ในด้านผู้ส่งสินค้า ซึ่งหากสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า มีแพลตฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะขยายวงออกไปสู่การให้บริการในรูปแบบอื่นๆ นอกจากจากการส่งออาหารเทาานั้น รวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ อย่างผู้ประกอบการร้านค้าก็จะเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กเพิ่มขี้นอีก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image