‘ดีอีเอส’ เรียกหน่วยงานเคาะงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ สัปดาห์นี้

‘ดีอีเอส’ เรียกหน่วยงานเคาะงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ สัปดาห์นี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอ ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงปรับแก้รายละเอียดโครงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และให้เสนอกลับมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสเพื่อพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์นี้

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้มอบให้คิดรูปแบบการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้คนใช้แพลตฟอร์มออนไลน์สอดรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความปกติรูปแบบใหม่ หรือนิวนอร์มอล ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่หันมาทำการค้าขายออนไลน์มากขึ้นโดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้พิจารณาว่ามีเรื่องใดที่จะสามารถส่งเสริมอะไรได้บ้าง โดยอาจมีการของบประมาณสนับสนุน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในการส่งเสริมการทำมาค้าขาย การทำธุรกิจ รวมถึงสินค้าเกษตร

ขณะที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ได้มอบให้ศึกษาแนวทางการรีสกิล-อัพสกิล ให้กับนักศึกษาจบใหม่ในทุกสาขา ซึ่งมีแนวโน้มตกงานสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยการฝึกอบรม ส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล อาทิ การเขียนโปรแกรม การทำกราฟิก และการทำแพลตฟอร์มต่างๆ เบื้องต้น เพราะเรื่องดิจิทัลจะต้องแทรกซึมอยู่ในทุกสาขาอาชีพ ทั้งนี้ หากเป็นไปได้อาจมีการของบประมาณสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เข้าฝึกอบรมให้ยังมีรายได้เลี้ยงตัวเองก่อน ซึ่งต้องพิจารณาว่า ต้องใช้งบประมาณจำนวนเท่าไร สำหรับฝึกอบรมจำนวนกี่ราย

ส่วนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสนอให้มีการขยายจุดเชื่อมต่อไวไฟฟรีในชุมชนเมือง ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเน็ตประชารัฐจะทำเฉพาะพื้นที่ชายขอบ แต่ในชุมชนเมืองบางพื้นที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนต้องหันมาพึ่งพาออนไลน์ในการค้าขายหรือเรียนออนไลน์มากขึ้น จึงต้องเร่งขยายจุดเชื่อมต่อไวไฟฟรีให้รวดเร็ว และทั่วถึง

Advertisement

ด้านสํานักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้มอบให้คิดโครงการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลความเดือดร้อนประชาชนทั่วทั้งประเทศ โดยจะมีการตั้งงบประมาณให้สำนักงานสถิติจังหวัดจ้างคนในพื้นที่ 100-200 คน กระจายทุกอำเภอและหมู่บ้าน โดยอาจใช้เวลา 1 เดือน ในการฝึกอบรมและจัดทำคำถามที่ดีให้สามารถนำกลับมาเป็นข้อมูล เพื่อให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

“ยังประเมินตัวเลขวงเงินงบประมาณไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจนจากแต่ละหน่วยงาน ถ้าเว่อวังก็ต้องมีการแก้ไขให้มีความเหมาะสมและรอบคอบ ซึ่งต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าใครจะได้รับประโยชน์ ไม่ใช่เขียนมาลอยๆ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือตรงกับความต้องการประชาชน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็จะไม่อนุมัติ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image