อธิบดีปศุสัตว์รายงานกมธ.โอไอซีประจำภูมิภาค ความสำเร็จคุม’อหิวาต์หมู’-แก้’กาฬโรคม้า’

อธิบดีปศุสัตว์รายงานกมธ.โอไอซีประจำภูมิภาค ถึงความสำเร็จคุม’อหิวาต์หมู’ อัพเดทแก้’กาฬโรคม้า’ ให้ปลอดโรคใน2ปี

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่กรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้แทนองค์การสุขภาพสัตว์โลกของประเทศไทย (ตัวแทนโอไออีของไทย) ประชุมทางไกลคณะกรรมาธิการโอไออี ประจำภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกไกล และโอเชียเนีย โดยได้นำเสนอการดำเนินงานและรายงานผลเรื่องความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และสถานการณ์และมาตรการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ดังนี้

1.ความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งโรคนี้มีการระบาดเกิดในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยถึงแม้ไม่เกิดโรค จึงมีความเสี่ยงในเกิดโรค กรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดโรค ได้จัดทำแผนปฎิบัติการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว มีการผลักดันยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนงบประมาณ ได้อนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 แผนประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะแรก คือ ระยะก่อนเกิดโรค เป็นการเฝ้าระวังและป้องกัน ระยะที่สอง คือ ระยะเกิดโรค เป็นการกำจัดโรค และระยะที่สาม คือ ระยะฟื้นฟู เป็นการเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น

หลักสำคัญในการควบคุมโรค ประกอบด้วย 8 ข้อ คือ 1. ด้านนโยบายและการจัดการ 2. การป้องกัน มีการประเมินความเสี่ยง 3. ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ 4. การเฝ้าระวังโรค 5. ด้านห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ 6. การสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น อุปกรณ์ งบประมาณ และบุคลากร 7. การสื่อสารความเสี่ยง และ 8. การบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบ

จากการดำเนินงานอย่างเข้มงวด ทำให้ไม่มีรายงานการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในประเทศไทย โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมโรคได้คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านสุกร หน่วยงานทั้งรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข ประเทศเพื่อนบ้าน และองค์กรระหว่างประเทศ

Advertisement

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า 2. สถานการณ์และมาตรการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) สืบเนื่องจากการเกิดโรค AHS ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก กรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งวันที่ 25 มีนาคม 2563 และได้เร่งลงพื้นที่สอบสวนโรคและรายงานไปโอไออี ทันที และรายงานต่อเนื่องรายสัปดาห์ จากการดำเนินงานต่อเนื่องภายในระยะเวลา 2 เดือน โดยสถานการณ์ล่าสุดสามารถควบคุมการเกิดโรคได้วงพื้นที่จำกัด ไม่มีรายงานม้าตายเพิ่มกว่า 10 วันแล้ว กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ วัคซีน การลงพื้นที่ภาคสนาม การวิจัย และการศึกษาแมลงพาหะ มีการทำแผนปฎิบัติการกำจัดโรค AHS เพื่อคืนสถานภาพปลอดโรคจากโอไออี ของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 ระยะ โดย ระยะแรก คือ ระยะเผชิญเหตุ (กำลังอยู่ในระยะนี้) ระยะสอง คือ ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติโรคซ้ำ และระยะสาม คือ การขอคืนสภาพปลอดโรคของประเทศไทย โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินงานให้สำเร็จ คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน PPP เป้าหมายหลัก คือ การกำจัดโรคในประเทศไทย การควบคุมโรคในม้าลาย และการขอคืนสภาพสถานะปลอดโรคจากโอไออี ภายในระยะเวลา 2 ปี

นอกจากนี้ ได้มีการเสนอพิจารณาให้มี Vaccine bank แบบชั่วคราวในภูมิภาคนี้ สำหรับโรค AHS เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค หากมีการเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศไทยมีความพร้อมและยินดีที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมาธิการโอไออี ประจำภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกไกล และโอเชียเนีย ครั้งที่ 32 ในปี 2564 ณ จังหวัดเชียงราย ซึ่งจะส่งหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image