ไพรซ์ซ่า กางผลสำรวจตลาดอีคอมเมิร์ซไทย พุ่งพรวด35% หลังโควิดระบาด-เวิร์กฟรอมโฮม

รายงานข่าวจาก ไพรซ์ซ่า แหล่งรวบรวมสินค้าจากร้านค้าชั้นนำบนออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ระบุว่า ได้จัดทำ Priceza Insights (ไพรซ์ซ่า อินไซต์) รวบรวมข้อมูลเชิงลึกหรืออินไซต์ของวงการอีคอมเมิร์ซ พบว่า จากความสะดวกสบายในการช้อปปิ้งออนไลน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ในประเทศไทย เป็นแรงผลักให้ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจกลุ่มอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี คาดการณ์มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2563 อาจมีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท เติบโต 35% จากปีก่อน โดยมีการแข่งขันสูงทั้งจากผู้ประกอบการเก่าและใหม่ แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1. เครื่องมือการทำการตลาด (Marketing Tools) กว่าที่แบรนด์จะเป็นที่รู้จักและประสบการณ์ความสำเร็จนั้น ไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่วันสองวัน ก็สามารถโด่งดังเป็นพลุแตกได้ แต่แบรนด์ต้องมีการวางแผนการตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณา การคิดรายการส่งเสริมการขาย การบริหารจัดการดูแลฐานลูกค้าที่ดี วางแผนช่องทางในการโปรโมท หรือจะเป็นประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักต่อผู้บริโภคมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แบรนด์ของคุณประสบความสำเร็จ ดังนั้นการเลือกใช้เครื่องมือการทำการตลาดต่างๆ จึงสำคัญกับแบรนด์ผู้ผลิตเป็นอย่างมาก

ส่วนที่ 2. อีคอมเมิร์ซ (E-commerce Channel)เมื่อแบรนด์ผู้ผลิตได้มีการเลือกใช้เครื่องมือในการทำ Marketing เรียบร้อยแล้ว ก็มาในส่วนของช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้เลย เรียกได้ว่า ช่องทาง E-commerce เป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้ผลิตต่างๆควรที่จะเข้ามาแข่งขันในช่องทางนี้ได้แล้ว เนื่องจากว่าปัจจุบันเทคโนโลยี และความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตทำให้ไม่มีช่องวางระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้ออีกต่อไป การจับจ่ายใช้สอยสามารถทำได้ง่ายๆที่บ้าน ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที ทำให้การขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแบรนด์ผู้ผลิตสามารถขายผ่าน 3 ช่องทางได้แก่   E-marketplace การนำสินค้าไปขายบนเว็บไซต์ตลาดสินค้าออนไลน์ ที่รวมร้านค้าหลายแห่งไว้ในที่เดียว ซึ่งเราสามารถไปเปิดร้านในนั้นได้ เช่น Lazada Shopee เป็นต้น Social Commerce การขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, หรือ Line@ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน Social Media หลายตัวได้เพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับการขายสินค้า ทำให้ง่ายต่อการวางขายมากขึ้น  E-tailer/Brand.com คือการทำร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง ไม่ต้องผ่าน Marketplace คนกลาง ดังนั้นจึงไม่มีการถูกหักค่าคอมมิชชั่นเมื่อเราขายได้ ซึ่งสามารถเปิดร้านค้าออนไลน์เองผ่าน Webstore Platform ต่างๆ เช่น Tarad, LnwShop หรือเปิดร้านค้าออนไลน์เอง ทำเว็บเอง ขายเอง เช่น Powerbuy.com และ Beauticool.com เป็นต้น

ส่วนที่ 3. ระบบการชำระเงิน (Payment) แน่นอนว่าเมื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตมากขึ้นในทุกๆปี สิ่งหนึ่งที่จะต้องเติบโตควบคู่กันไปนั่นก็คือ ระบบการชำระเงิน เมื่อเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู้สังคมยุคไร้เงินสด (cashless society) เห็นได้จากผู้คนเริ่มใช้เงินสดในชีวิตประจำวันน้อยลง และหันมาใช้บริการระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แทน ไม่ว่าจะเป็น การชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า การชำระบิลค่าบริการต่างๆ ทำให้การแข่งขันของระบบการชำระเงินมีความดุเดือดมากยิ่งขึ้นทั้งจากผู้เล่นธนาคารและกลุ่มบริษัทเอกชน

Advertisement

และส่วนที่ 4.  ระบบขนส่ง (Logistic) จากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัลและการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ชที่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ตลาดบริษัทขนส่งในไทยมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์ของ SCB: Economic Intelligence Center โดยการคำนวณจากบริษัทขนส่งพัสดุในไทยรายใหญ่ประมาณ 22 ราย ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา 2560-62 พบว่ามูลค่าตลาดของบริษัทขนส่งในไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 40 %ต่อปีเลยทีเดียว เป็นผลให้การแข่งขันของธุรกิจบริษัทขนส่งมีความดุเดือด รุนแรงมากขึ้นทุกปี เห็นได้จากการกดราคาค่าบริการ เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่างๆหันมาใช้บริการขนส่งของตน ซึ่งระบบขนส่งก็ยังแบ่งออกยิบย่อยได้อีกเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ประกอบการและผู้บริโภค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image