ไทยไม่ปล่อย เข็นกม.ลุยเก็บ “แวต” แพลตฟอร์มต่างประเทศ คาดรีดปีแรก 3 พันล้าน

สรรพากรลุยภาษีอีเซอร์วิส เก็บเว็บแวตจากให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ กวาดหมดทั้ง เน็ตฟิก เฟซบุ๊ก ยูทูป กูเกิล อเมซอน อีเพย์ อโกด้า อูเบอร์ เผยดำเนินการตามแนวทางของ 60 ประเทศทั่วโลก มั่นใจสร้างรายได้ให้รัฐปีแรกไม่น้อยกว่า 3 พันล้าน

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ที่ทางคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบส่งร่างเสนอสภาผู้แทนราษฎร

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า กรมสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) กับผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ แม้จะไม่ได้มาจดทะเบียนในไทย ในปีแรกจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 3 พันล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะผลจากโควิด -19 ทำให้ออนไลน์เติบโตมาก

สำหรับธุรกิจที่ถูกเก็บภาษีบริการต่างประ โหลดหนัง เช่น Netflix (เน็ตฟิก) ผู้ให้บริการออนไลน์ และมีโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป กูเกิล รวมถึงตัวกลางในการให้บริการจองโรงแรม เช่น บุ๊คกิ้ง อโกด้า ตัวกลางให้บริการต่าง ๆ เช่น อูเบอร์ รวมถึงผู้ให้บริการ อีคอมเมิร์ซ เช่น อเมซอน อีเบย์

การเก็บภาษีนั้นไม่ใช่เก็บจากตัวสินเค้า เก็บจากการบริการและการโฆษณา โดยผู้ประกอบการต่างชาติต่างชาติที่มาให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ถ้ามีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) เช่นเดียวกับผู้ให้บริการในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในไทย ต้องเก็บแวตมาส่งให้สรรพากร

Advertisement

“ก่อนหน้านี้โฆษณาเน้นตามทีวี แต่ขณะนี้ โฆษณาผ่านแพลตฟอร์มที่ดังๆ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูป แม้แต่ตัวกลางให้บริการจับแพะชนแกะ เช่นอูเบอร์ โดยเป็นการเก็บภาษีจากการให้บริการ เท่าที่หารือบริษัทดังกล่าวพร้อมดำเนินการกฎหมายไทย แม้ไม่ได้มาจดทะเบียนในไทยก็ตาม เพราะประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 60 ประเทศกำลังดำเนินการในลักษณะนี้ แม้แต่อินโดนีเซีย เพิ่งดำเนินการลักษณะเดียวกับของไทย และเริ่มเก็บภาษีไปแล้ว” นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า ในการปฏิบัติ มีวิธีการบังคับให้ส่งแวต หรือจดแวตในไทย สามารถนำส่งภาษีทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถใช้แนวทางการบังคับตามกฎหมายภาษี และใช้กลไกภาษีระหว่างประเทศ ไทยมีการลงนามกระบวนการให้ความช่วยเหลือในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศไปแล้ว โดยบางประเทศมีกฎหมายบังคับ เช่น บล็อกเว็บไซค์ บล็อกทรานเช็กชั่น ไม่ให้โอนเงินออกนอกประเทศ มีข้อสังเกตของกฤษฎีกาว่า เพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ควรมีกฎหมายอื่นที่จะใช้กำกับควบคู่ไปเหมือนกับบางประเทศที่ทำ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image