เฉลียงไอเดีย : โควิด-19 มา..พา 5G เกิด ‘ทรู’นำร่อง รพ.นพรัตนราชธานี ใช้เทคโนโลยียกระดับสาธารณสุขไทย

เฉลียงไอเดีย : โควิด-19 มา..พา 5G เกิด ‘ทรู’นำร่อง รพ.นพรัตนราชธานี ใช้เทคโนโลยียกระดับสาธารณสุขไทย

เฉลียงไอเดีย : โควิด-19 มา..พา 5G เกิด ‘ทรู’นำร่อง รพ.นพรัตนราชธานี ใช้เทคโนโลยียกระดับสาธารณสุขไทย

เดชะบุญที่ไทยปิดจ๊อบประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่อย่างนั้นแผนการขับเคลื่อน 5G ในบ้านเราคงพังไม่เป็นท่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จนป่านนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง

แรกเริ่ม “กสทช.” มองว่า “5G” จะเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตก่อน จากนั้นจึงขยายไปที่การคมนาคมขนส่ง การเกษตร ด้านการแพทย์และสาธารณสุข แต่ในภาวะวิกฤตที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเสี่ยงอันตราย จู่ๆ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากที่อยู่ในอันดับสุดท้าย ก็ขึ้นมาผงาดงํ้าแซงหน้า ภาคอุตสาหกรรมการผลิต กระจุย โดยมี 2 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ “เอไอเอส-ทรู” ในฐานะผู้ที่ได้คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ครอง 5G จึงหันมาติดตั้งสถานีฐานในโรงพยาบาล

โดย “ทรู” ปักหมุดที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ซึ่ง หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ พรีเซ็นเตอร์ “5G” ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้

Advertisement
พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์

คุณพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G ทรู คอร์ปอเรชั่น เล่าว่า ทรูเข้ามาร่วมพัฒนากับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เพราะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ที่เปรียบเหมือนตัวแทนโรงพยาบาลประจำจังหวัด เมื่อพัฒนาและทดลองเสร็จก็สามารถขยายผลไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศได้

และเหตุผลที่ทรู เริ่มนำ 5G มาใช้กับระบบสาธารณสุขก่อน เพราะเห็นว่ารูปแบบการรักษาของแพทย์และพยาบาลในยุคหลังโควิด-19 จะมีวิธีการรักษาที่เปลี่ยนไป หลายๆ อย่างเมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นรูปแบบของการดูแลผู้ป่วย ที่ปัจจุบันแพทย์ พยาบาล ยังมีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนชุดป้องกันเชื้อโรค ดังนั้น การนำวิทยาการอย่างระบบสื่อสารระหว่างแพทย์ และคนไข้ ผ่านหุ่นยนต์เข้ามาช่วยก็จะลดการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงได้

“จากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นศักยภาพของหน่วยงานสาธารณสุขของไทย ซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแรงมาก ในส่วนของทรูก็จะเข้าร่วมนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยดีขึ้นเป็นผู้นำของเทคโนโลยีนี้ให้ได้”

Advertisement

ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาได้จำกัด จากข้อจำกัดของ 3G และ 4G ที่ทำความเร็วได้ระดับหนึ่ง แต่เวลาใช้จริงที่ต้องการสื่อสารที่ฉับไว กลับกลายเป็นว่าคนไข้รู้สึกติดขัด ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร พอมาเป็น 5G ข้อจำกัดเหล่านี้หายไป สามารถใช้งานวิดีโอคอลได้ไม่แตกต่างจากโทรศัพท์

โดยทรู 5G เข้าไปช่วยพัฒนาทางการแพทย์ ใน 2 ส่วนหลักๆ คือกลุ่มที่มีการนำเทคโนโลยีสื่อสารเดิมมาใช้งานอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร พอมี 5G เข้ามาทำให้การสื่อสารลื่นไหล และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกกลุ่ม คือ ทำให้เกิดการศึกษา การนำไปใช้งานรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดกับ 4G มาก่อน เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล หรือการให้บริการผู้ป่วยผ่านระบบเทเลคลินิกที่ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่รุนแรง เพื่อทำให้โรงพยาบาลไม่เกิดความแออัด ให้เหมาะกับสถานการณ์โควิด-19 ในเวลานี้

คุณพิรุณบอกว่า รู้สึกภูมิใจนำเสนอ 4 นวัตกรรมด้านการแพทย์ ที่ใช้งานผ่านเครือข่าย ทรู 5G เริ่มตั้งแต่ อุปกรณ์รถพยาบาลฉุกเฉินอัจฉริยะ ที่ช่วยติดตามและสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลกับภายในรถฉุกเฉินโดยไม่มีความหน่วง ทำให้แพทย์ที่อยู่ภายในรถสามารถสื่อสารกับแพทย์ที่อยู่ประจำโรงพยาบาล เพื่อจัดเตรียมการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และทันท่วงที

ยังไม่พอแค่นั้น ยังมีระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะเพื่อการสื่อสารเสมือนจริง สำหรับใช้ในการสื่อสารระยะไกลระหว่างแพทย์ฉุกเฉินและแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์เฉพาะทางจะเห็นภาพในมุมมองเดียวกันจากแว่นที่แพทย์ฉุกเฉินใส่ ทำให้สามารถให้ความเห็นได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

“ส่วนอันนี้ ชอบมากเพราะเป็นหุ่นยนต์สื่อสารอัจฉริยะ ที่นอกจากจะใช้ในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง ยังช่วยส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เอกสาร หรือสิ่งของต่างๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก โดยบังคับได้จากระยะไกลด้วย”

และปิดท้ายที่แอพพลิเคชั่นสำหรับคัดกรอง ให้คำปรึกษา และวินิจฉัยโรคเล็กๆ น้อยๆ โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล โดยตรวจคัดกรองคนไข้ผ่านคำถามต่างๆ เพื่อเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนที่จะเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล และสามารถทำนัดกับแพทย์ได้ทันที ตามอาการ หากจำเป็นต้องเข้ามาพบแพทย์ต่อไป

“โซลูชั่นเพื่อการแพทย์ทั้งหมดนี้เชื่อมต่อด้วยซิมทรู 5G และอุปกรณ์รับสัญญาณซีพีอี 5G ผ่านเครือข่ายทรู 5G ที่ได้ขยายสัญญาณไว้รอบโรงพยาบาลแล้ว รวมทั้งได้ติดตั้งรถคาว 5G เพื่อขยายสัญญาณเพิ่มเติมในโรงพยาบาลด้วย เพื่อให้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นโรงพยาบาลต้นแบบของระบบการแพทย์ฉุกเฉินวิถีใหม่ หรืออีอาร์ นิวนอร์มอล แห่งแรกในไทย” คุณพิรุณกล่าวจบท้าย

จะว่าไป 5G ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับบ้านเรา ฉะนั้นรูปแบบการใช้งาน หรือยูสเคส ให้ได้ลองผิดลองถูก ยิ่งผุดขึ้นมากเท่าไรยิ่งดี ซึ่งสิ่งที่ทรูทดลองทดสอบนี้ แม้จะยังไม่รู้ว่าอะไรดีที่สุด อะไรที่ทำแล้วเวิร์ก…ไม่เวิร์ก แต่เห็นว่าทำแล้วใช้ประโยชน์ก็ควรทำ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

และที่แน่นอนคือการให้ความรู้คนในประเทศไม่ใช่แค่เสมือนจริง แต่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์โควิด-19 เรื่อง 5G ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป!

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image