6 ล้านเพลงสะเทือน ‘พาณิชย์’ ชงแก้ กม. เก็บค่าลิขสิทธิ์ใหม่

ธุรกิจเพลงสะเทือน พาณิชย์ชงแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ วางมาตรฐานค่าจัดเก็บปีละกว่า 700 ล้าน เล็งยกเลิกบทบัญญัติ “ผิดอาญายอมความได้” จัดแถวตัวแทนเก็บลิขสิทธิ์ 29 บริษัท ตามโมเดลสหรัฐ-ยุโรป หนุนรัฐคุมเกม จัดสรรผลประโยชน์แก้ปัญหาซ้ำซ้อน

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” กรณีปัญหาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงว่า ขาดแนวทางที่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนต่อผู้ใช้งานที่มีลิขสิทธิ์ และยังนำไปสู่ปัญหาการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเพื่อดูแลผลประโยชน์

แก้ “ความผิดอาญายอมความ”

จึงได้ประชุมร่วมกับตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ และบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ 19 ราย จากทั้งหมด 29 ราย โดยจะมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์อีกครั้ง จากที่แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับ 2) พ.ศ. 2558 โดยจะเพิ่มบทบัญญัติการกำกับดูแลองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และยกเลิกบทบัญญัติที่ระบุว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดตามคดีอาญาที่สามารถยอมความกันได้” เพื่อให้มาตรการกำกับดูแลเป็นสากล ลดปัญหาความไม่ชัดเจนในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์

สำหรับระบบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ปัจจุบัน “องค์กรจัดเก็บ” ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทเจ้าของเพลงจะมาจดทะเบียนแจ้งต่อกรมการค้าภายใน ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้ “การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า” เป็นบริการควบคุม จากนั้นบริษัทแต่ละรายจะไปตรวจสอบและเรียกเก็บตามอัตราที่แต่ละบริษัทกำหนด ตามแต่ละประเภทการใช้งานซึ่งจะไม่เท่ากัน และในการลงพื้นที่ไปเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ บริษัทตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อ้างสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของเพลงและดำเนินการจัดเก็บ โดยไม่มีการแสดงหลักฐานสิทธิ์การเป็นเจ้าของเพลง และไม่สามารถตรวจสอบได้ แม้ว่าจะเป็นบริการควบคุมแต่ไม่ได้มีการกำหนดมาตรการกำกับดูแล เช่น ไม่มีราคาแนะนำ

Advertisement

ลด 29 บริษัทนายหน้าลิขสิทธิ์

“บริษัทจัดเก็บส่วนใหญ่เห็นด้วยในการวางระบบกฎกติกา วิธีการ และเรตค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน และให้มีผู้ดำเนินการเก็บค่าลิขสิทธิ์แทน 29 ราย ให้เหลือจำนวนน้อยลง เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เพื่อความสะดวกทั้งผู้เก็บและตัวผู้ใช้ กรมจึงขอให้บริษัทผู้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ กำหนดแนวทางการยกเว้นการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้กับผู้ใช้บางประเภท เช่น ร้านเล็ก หรือมีแนวทางคำนวณ เช่น เปิดเพลงจากวิทยุควรเก็บหรือไม่ หรือก่อนที่เก็บต้องแจ้งล่วงหน้าว่าเป็นเจ้าของเพลงอะไร ก่อนจะดำเนินการจับกุม และขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการของผู้ประกอบการ เพื่อประกอบการยกร่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์”

นายพิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการและฝ่ายวิชาการด้านลิขสิทธิ์ สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) จะปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เพราะกฎหมายมีช่องว่าง ทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ใช้ลิขสิทธิ์ กฎหมายให้น้ำหนักเจ้าของลิขสิทธิ์มากกว่า จึงมักมีการนำไปใช้แสวงหาประโยชน์ เรียกค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้ลิขสิทธิ์อย่างไม่เป็นธรรม

Advertisement

ลดต้นทุนค่าเพลง 4 แสนบาท

“ยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยมีความพยายามจะแก้ไขเรื่องนี้ แต่ถูกค้านจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งจะอ้างว่ากฎหมายไปจำกัดการแข่งขันเสรี ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้ขัดตามหลักองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ที่ให้องค์กรจัดเก็บรวมตัวกันกำหนดแนวทางจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ที่สำคัญการแก้เรื่องนี้จะช่วยให้ไทยสามารถเปิดตลาดเพลงไปขายตลาดอาเซียนได้ง่ายขึ้น เพราะลูกค้ารู้ว่ามาจ่ายที่ไหนที่เดียว แต่ตอนนี้ร้านกาแฟร้านเดียวต้องจ่ายค่าใช้สิทธิ์ให้ทุกคน อัตราก็ไม่เหมือนกัน สมมุติเรียกเก็บคนละ 10,000 บาท ทั้ง 29 บริษัท เท่ากับต้องจ่ายราว 3-4 แสนบาท เป็นต้นทุนที่สูงเกินไป”

สำหรับแนวทางการแก้ไขกฎหมาย 2 แนวทาง คือ 1) ยกเลิกไม่ให้คดีลิขสิทธิ์เป็นคดีอาญาที่สามารถยอมความกันได้ จะทำให้คดีลิขสิทธิ์กลายเป็นคดีแพ่งต้องฟ้องร้องและมีค่าใช้จ่าย ลดปัญหาการตกลงยอมความกันนอกศาลได้ 2) ต้องเพิ่มข้อบทเพื่อกำกับดูแลควบคุมองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ โดยกำหนดประเภทองค์กรจัดเก็บตามประเภทงาน เช่น องค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม, สิ่งบันทึกเสียง และสิทธิ์นักแสดง หรือเรียกว่าองค์กรจัดเก็บสำหรับค่ายเพลง, ครูเพลง และนักแสดง จากปัจจุบันแต่ละบริษัทก็ตั้งองค์กรจัดเก็บจนมีมากถึง 29 บริษัท ขณะที่สหรัฐมีเพียง 3-4 องค์กร, สหภาพยุโรป 2-3 องค์กร เยอรมนีมี 1 องค์กร และญี่ปุ่นมี 2 องค์กรเท่านั้น กำหนดลักษณะวิธีการเก็บค่าลิขสิทธิ์และจะต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ (ออดิต) ว่า องค์กรจัดเก็บจัดสรรผลประโยชน์ถูกต้องหรือไม่

ด้านนางสาวมาลา ตั้งประเสริฐ ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ภาคเอกชน) หรือ ปปท.ภาคเอกชน กล่าวว่า สภาพปัญหาการใช้งานลิขสิทธิ์ประเภทเพลงของผู้อื่นเพื่อการค้า ได้ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี และใช้ พ.ร.บ.ราคาสินค้าเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล โดยกรมการค้าภายในจัดระเบียบแบบหลวม ๆ ส่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เมื่อปี 2543 แล้วยุติเมื่อปี 2545 ให้ภาคเอกชนไปบริหารกันเอง

ปกป้อง 5.7 ล้านเพลง

สำหรับมูลค่าตลาดการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ปัจจุบันประมาณ 300-700 ล้านบาทต่อปี ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยมีบริษัทผู้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ 29 ราย จำนวน 5,753,404 เพลง อาทิ บริษัท เอ็มพีซี มิวสิค จำกัด เป็นเจ้าของสิทธิ์งานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียง 5,605,201 เพลง บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 35,339 เพลง บริษัท อาร์ เอ็ม เอส พับลิชชิ่ง จำกัด 19,479 เพลง บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด 17,303 เพลง บริษัท อินเตอร์ มิวสิค ก๊อปปี้ไรท์ จำกัด 12,538 เพลง บริษัท เค.ที.พับลิชชิ่ง จำกัด 14,711 เพลง บริษัท ลิขสิทธิ์เพลง จำกัด 9,651 เพลง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image