‘สมคิด’สั่งบีโอไอปั้นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นใน5ปี ชูอาหารแปรรูป-พึ่งเอฟดีไอลดลง

“สมคิด”สั่งบีโอไอจับมือสถาบันการศึกษาเร่งผลักดันสตาร์ตอัพอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ดันเป็นยูนิคอร์นภายใน 5 ปี หวังพัฒนาโลคอล อีโคโนมี จูงใจคนไทยบ้านเกิด กระตุ้นจ้างงาน สร้างรายได้ หวังเปลี่ยนทิศทางประเทศพึ่งเอฟดีไอน้อยลง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอเร่งศึกษามาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้ลงทุนในประเทศมากขึ้น ตั้งเป้าหมายยกระดับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพขนาดกลางและรายย่อยไปสู่การเป็นยูนิคอร์นภายใน 5 ปี คือ มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ในกลุ่มซีแอลเอ็มวีทีประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบในแง่ของผลผลิตด้านการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นวัตถุดิบที่ต่างชาติให้การยอมรับ การเชื่อมโยงโลจิสติกส์ สิทธิประโยชน์ และมีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็ง แม้จะมีอัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่น แต่ไทยยังเป็นประเทศที่ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน ระยะต่อไปอุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ดิจิทัล ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตสดใส

“ให้โจทย์บีโอไอว่าถ้าไทยจะเป็นฮับเหล่านี้ ต้องดึงดูดให้เกิดการลงทุนอย่างไร ให้ระดมสมองร่วมกับสถาบันการศึกษา เน้นพัฒนา ยกระดับเกษตรกรรมในท้องถิ่น จูงใจให้คนไทยกลับไปพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ อยากให้บีโอไอสร้างการเชื่อมโยงกับเกษตรอัจฉริยะ(สมาร์ทฟาร์มเมอร์) นำไปสู่การเชื่อมโยงตลาดโลก เชื่อว่าบีโอไอจะออกแบบมาตรการส่งเสริมได้ไม่ยากนัก” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางเชิงนโยบายจากที่เคยเน้นดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนและผลิตสินค้าในไทยเป็นหลักก่อน นักลงทุนจากจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า เบื้องต้น บีโอไอได้มีโปรเจ็กต์ใหม่เพิ่มเติมที่เป็นกิจกรรมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการเกษตร โดยจะจับคู่ให้ส่งวัตถุดิบทางการเกษตรเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยจะเริ่มต้นจากกลุ่มสมาร์มฟาร์มเมอร์ รวมถึงเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐานต่างๆ นอกจากนี้วันที่ 17 มิถุนายนจะมีการประชุมบอร์ดบีโอไอ เพื่อจะหารือเพื่อการปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร กำหนดมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ขณะเดียวกัน บีโอไอได้เพิ่มประเภทในอุตสาหกรรมการเกษตร 1 ประเภท ได้แก่ โรงงานผลิตพืชแห่งอนาคต หรือ แพลนท์ แฟคตอรี่ นอกจากนี้บีโอไอยังหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) ได้รับคำยืนยันว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังมองประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับการลงทุน ส่วนภาพรวมการขอส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมาย แต่ยอมรับว่าอาจจะมีระดับที่ลดลงพอสมควร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image