ส.อ.ท.กลุ่มยานยนต์-ชิ้นส่วนเฮ!!ตลาดรถกระเตื้องหลังรบ.คลายล็อคเฟส 4

ส.อ.ท.กลุ่มยานยนต์-ชิ้นส่วนเฮตลาดรถกระเตื้องหลังรบ.คลายล็อคเฟส 4  หวังมาตรการรัฐเร่งฟื้นกำลังซื้อดันทั้งปีผลิตรถไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลประกาศผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เป็นช่วงที่ 4 (คลายล็อคดาวน์เฟส4) และยกเลิกห้ามออกนอกเคหสถาน(เคอร์ฟิว)คาดว่าจะทำให้ธุรกิจต่างๆทยอยกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง เป็นผลดีต่อตลาดรถยนต์ในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้บ้างแต่ภาพรวมยังต้องติดตามใกล้ชิดเพราะแรงซื้อของคนไทยยังตกต่ำและความไม่แน่นอนจากการกลับมาระบาดไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนั้นเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2563 คงจะอยู่ที่ 1 ล้านคัน ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 50%

“คาดหวังว่ายอดการผลิตรถยนต์ปีนี้ เลวร้ายสุดจะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เนื่องจากตลาดส่งออกขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัวนักเพราะหลายประเทศส่วนใหญ่ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ล่าสุดจีนพบผู้ติดเชื้อใหม่หลังคลายล็อคดาวน์ จุดนี้ทำให้ไทยต้องระวังอย่างใกล้ชิด เพราะหากพบอีกจะต้องปิดกิจกรรมต่างๆเพื่อป้องกันอีกครั้ง คงไม่ส่งผลดีต่อแรงซื้อคนไทยที่ตกต่ำอยู่แล้ว”นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า แม้ค่ายรถยนต์จะมีโปรโมชั่นต่างๆออกมาในปัจจุบันเพื่อกระตุ้นแรงซื้อแต่ยอมรับว่าประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบจากการถูกออกจากงาน การลดเงินเดือน และการให้ทำงานที่บ้าน ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจรายได้ในอนาคตว่าจะมีเพียงพอใช้จ่ายหรือไม่ จึงไม่กล้าออกรถยนต์ใหม่ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการบริโภค

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องของการลดภาษีสรรพสามิตเพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ที่รัฐบาลปฏิเสธไปแล้ว คงจะไม่มีมาตรการนี้แน่นอน ส่วนการนำรถยนต์เก่ามาแลกใหม่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็ค่อนข้างคัดค้าน ผู้ผลิตรถยนต์เองจึงหวังว่ารัฐบาลจะเร่งทำให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นโดยเร็ว ทำให้มีแรงซื้อกลับมา ขณะที่ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนเองตอนนี้ต่างพยายามปรับลดต้นทุนเพื่อประคองให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้

Advertisement

นายสุรพงษ์ยังกล่าวถึงกรณีค่ายรถยนต์เทสลาประกาศจะพัฒนารถพลังงานไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกลกว่า 1 ล้านไมล์ (ราว 1.6 ล้านกิโลเมตร) ว่า แม้ว่าแบตเตอรี่จะเริ่มมีการพัฒนาอายุการใช้งานที่มากขึ้นและสถานีอัดปรจุดไฟฟ้ารองรับยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีในไทยมีมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญยังมองในเรื่องของราคารถที่จะเป็นปัจจัยหลักให้ตลาดรถอีวีมาเร็ว ขณะนี้ราคาส่วนใหญ่เฉลี่ยยังอยู่ระดับ 1 – 3 ล้านบาทถือว่าเป็นตลาดคนรวย แต่ทุกฝ่ายก็ต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อการปรับตัวที่ทันท่วงที

นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯได้รับผลกระทบจากการที่ยอดขายรถยนต์ลดต่ำลง เนื่องจากประมาณ 80% เป็นการผลิตแบบโออีเอ็ม หรือผลิตเพื่อป้อนให้กับค่ายรถและรับจ้างผลิตเป็นหลัก ซึ่งทางกลุ่มฯพยายามจะรักษาระดับแรงงานด้วยการลดต้นทุนเท่าที่ทำได้ เน้นจัดสัมมนาให้ความรู้ โดยหลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการระยะ4 แล้วหวังว่าอุตสาหกรรมจะค่อยฟื้นตัวขึ้น

“ตลาดชิ้นส่วนโออีเอ็มช่วงครึ่งปีแรกลดลงกว่า 50% เพราะผลกระทบโควิด-19 ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ทำให้สายป่านทางการเงินไม่ยาวมากนัก หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะยิ่งกระทบต่อภาวะการขาดทุน กระทบแรงงานมากขึ้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขอยู่”นายพินัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image