ส.อ.ท.ขนปัญหาถก”บิ๊กตู่”พรุ่งนี้ เสนอมาตรการฟื้นฟู-เยียวยา ปลื้มเชื่อมั่นอุตฯขยับรอบ4ด.

ส.อ.ท.ขนปัญหาถก”บิ๊กตู่”พรุ่งนี้ เสนอฟื้นฟู-เยียวยาผู้ประกอบการ-เกษตรกร-แรงงาน ปลื้มความเชื่อมั่นอุตฯขยับครั้งแรกรอบ 4 เดือนหลังโควิดคลี่คลาย

วันที่ 18 มิ.ย. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 19 มิถุนายน ผู้บริหารส.อ.ท.จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจไทยหลังประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคง โดยกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมจะเข้าสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม จำนวน 2 ล้านไร่และจะรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี จะขอให้รัฐบาลเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี และขอให้ตั้งกองทุนนวัตกรรม 1,000 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือด้านองค์ความรู้เอสเอ็มอี รวมทั้งจะหารือถึงผลกระทบแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นยอดผลิต และดูแลแรงงานในระบบประมาณ 7 แสนคน
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 78.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.9 ในเดือนเมษายน 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมถึงการผ่อนคลายการห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิวส์) จากเดิมเวลา 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.00 น.ส่งผลดีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (ธปท.) ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 0.50 ต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งกระทบต่อการค้าการลงทุนและการจ้างงาน ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดย่อมประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ นอกจากนี้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก

ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,157 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ประกอบการร้อยละ 71.2 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 47.7, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 43.4 และราคาน้ำมัน ร้อยละ 32.5 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 17.6

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 91.5 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.8 ในเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในระยะต่อไปจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกลับมาขยายตัว อย่างไรก็ตามค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่ดี

ด้าน ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ  ประกอบด้วย 1. เร่งผลักดันการใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 5 แสนล้านบาท รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2. ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น 3. ผลักดันให้ทุกหน่วยงานภาครัฐใช้ระบบออนไลน์ในการออกใบอนุญาตและรับชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งบริการอื่นๆ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image