‘ทีเอ็มบี-ธนชาต’ จับมือพยุงอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ดึงพันธมิตรช่วยเอสเอ็มอีพ้นวิกฤตโควิด-19

ทีเอ็มบีธนชาตจับมือพยุงอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ดึงพันธมิตรช่วยเอสเอ็มอีพ้นวิกฤตโควิด-19

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยมี 6,662 บริษัท คิดเป็นประมาณ 58% ของสัดส่วนรายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ในประเทศ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีมีผู้ประกอบการจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย และมีการจ้างงานสูงถึง 82% ของการจ้างงานทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจำนวนมาก การเร่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี จึงเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักลำดับแรกของธนาคาร

นายเสนธิปกล่าวว่า ธนาคารได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 โดยความช่วยเหลือจะมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือภายใต้โปรแกรมซัพพลายเชน

ทีเอ็มบีและธนชาต โดยมีแนวคิดที่เชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน บริษัททุกขนาดต้องเติบโตไปพร้อมๆ กัน จึงให้ความสำคัญกับซัพพลายเชน โซลูชัน มากว่า 10 ปี เริ่มต้นจากการให้แหล่งเงินทุนแก่เครือข่ายคู่ค้า ซึ่งก็คือ ธุรกิจขนาดกลางและเล็กจำนวนมาก ทุกวันนี้มีพันธมิตรรายใหญ่ที่อยู่ภายใต้โปรแกรมซัพพลายเชน100 ราย ซึ่งมีคู่ค้าธุรกิจเอสเอ็มอีอีกจำนวน 1,200 ราย ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงนำหลักการซัพพลายเชนมาช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยชวนพันธมิตรองค์กรรายใหญ่ให้มาช่วยเหลือคู่ค้ารายเล็ก และเป็นเรื่องน่ายินดีที่พันธมิตรองค์กรรายใหญ่ได้ตอบรับสนับสนุนแนวคิดของธนาคาร และ 2. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง โดยโปรแกรมที่ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือมีหลากหลาย ได้แก่ 1.โปรแกรมการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน  2.การให้เงินทุนหมุนเวียน (ซอฟท์โลน) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและรักษาการจ้างงานแก่ลูกค้าของธนาคาร 3.มอบโปรโมชันพิเศษ ฟรีประกันโควิด-19 ให้แก่พนักงาน เมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสมัครบริการ หักจ่ายเงินเดือนพนักงานผ่านออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการดูแลพนักงานในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างสะดวก และ 4. การให้แนะนำแก่เอสเอ็มอีของธนาคารแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการตั้งรับเชิงรุก ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจใหม่

เราเชื่อมั่นว่าการจะก้าวข้ามสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ ทุกบริษัทไม่ว่าจะธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต้องเดินไปพร้อมกัน ซึ่งการช่วยเหลือผ่านซัพพลายเชน โซลูชัน จากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สู่รายเล็ก จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถตั้งรับต่อสถานการณ์และปรับกลยุทธ์เชิงรุกให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งเป็นการช่วยทั้งระบบที่ได้ผลอย่างรวดเร็วและยั่งยืน สร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในเร็ววัน โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนบริษัทคู่ค้าและพันธมิตร เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไปนายเสนธิปกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image