‘ธปท.’ ออกโรงแจงเหตุผล หลังขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย ‘เงินปันผลระหว่างกาล’ และ ‘งดซื้อหุ้นคืน’

‘ธปท.’ ออกโรงแจงเหตุผล หลังขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย ‘เงินปันผลระหว่างกาล’ และ ‘งดซื้อหุ้นคืน’

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ ธปท.ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจ และระบบสถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพของคนไทยแต่ละคน โดยภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอันหนึ่งของธนาคารพาณิชย์คือ ระดับเงินกองทุน ที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงเงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากโควิด-19 คลายตัวลง และเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่ได้

นายวิรไทกล่าวว่า การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และแนวทางบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็งขึ้น ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถออกมาตรการช่วยดูแลและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้หลากหลายมาตรการ ในระยะข้างหน้าที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง จึงไม่ควร “การ์ดตก” ควรจะรักษาระดับเงินกองทุน หรือ “กันชน” ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” ถือเป็นมาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ “การ์ดตก” และเพื่อให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่อง จนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น

นายวิรไทกล่าวว่า ในภาวะปกติธนาคารพาณิชย์บางแห่งจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม เป็นการจ่ายเงินปันผลนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ต้องรอคำนวณผลการดำเนินงานเมื่อครบปี หรือครบรอบระยะเวลาบัญชี โดยอาจจะคำนวณจากผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรกและผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนำมาจ่ายเป็น “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ส่วนการซื้อหุ้นคืนนั้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ที่คิดว่ามีเงินกองทุนในระดับสูงเกินความจำเป็น หรือเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดลงไปอยู่ในระดับต่ำเกินควร ได้มีแผนซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งหมายถึงการซื้อหุ้นของตัวเองจำนวนหนึ่งออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มาเก็บไว้ หรือเพื่อนำไปลดทุนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลง โดยการงดการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์นั้น ไม่กระทบต่อการซื้อขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ของประชาชนตามปกติแต่อย่างใด

“การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน แม้จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในช่วงสั้นๆ แต่จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย เพราะจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง มีกันชนที่จะรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะถ้าเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระยะใหม่ๆ ทำให้การประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายกลางของ ธปท. นอกจากจะช่วยให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ร่วมตลาดแล้ว ยังช่วยลดความกังวลให้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ด้วย” นายวิรไทกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกคำชี้แจงหลังจากนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็น ในกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกคำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล ระบุว่า คำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลและห้ามซื้อหุ้นตัวเองคืน (ลดทุน) เป็นสัญญาณว่า ธปท.ได้ประเมินสถานการณ์หนี้เสียว่าเลวร้ายกว่าที่ปรากฏ

ถามว่าทำไมต้องออกคำสั่งแทนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินเองตามความเหมาะสม อาจจะเป็นเพราะนายแบงก์พาณิชย์ต้องการคำสั่งเป็นเกราะกำบังจากความไม่พอใจของนักลงทุนที่รอรับเงินปันผล ช่วงหลังหลายคนเข้าไปซื้อหุ้นเพราะราคาลดลงมาก ด้วยหวังผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับ

วันจันทร์นี้คาดว่าหุ้นธนาคารมีโอกาสสูงที่จะปรับลงแรง และผลกระทบต่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจจะต้องมีอย่างแน่นอน

Advertisement

ที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอยู่รอด วันนี้ SME ทุกระดับยังเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐบาล ดังนั้น การใช้เงินกู้ของรัฐบาลต้องมีการออกแบบให้ถึงมือผู้ประกอบการโดยตรง รวดเร็ว ไม่รั่วไหล และต้องมีการใช้ในการจัดซื้อสินค้านำเข้าให้น้อยที่สุด รอบหมุนของเงินต้องมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image