‘ททท’ เผย ‘กรุงไทย’ เร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม-เตรียมระบบหลังบ้าน พร้อมเริ่มต้นใช้ 3 แพคเกจกระตุ้นเที่ยวในประเทศ

A tourist jumps into the water from a speedboat in a bay on Phi Phi island on October 4, 2019. (Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

‘ททท’ เผย ‘กรุงไทย’ เร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม-เตรียมระบบหลังบ้าน พร้อมเริ่มต้นใช้ 3 แพคเกจกระตุ้นเที่ยวในประเทศ

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ททท.ได้เตรียมจัดโครงการ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ เซล 2020 ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-15 กันยายน 2563 เป็นเวลา 2 เดือน ภายใต้แนวคิด Non Stop Shopping ใน 5 พื้นที่คือกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และพัทยา ซึ่งผ่านมา การจัดงานไทยแลนด์ แกรนด์ เซล จะเป็นการจัดเพื่อกระตุ้น และดึงดูดใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้น แต่เนื่องจากเกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาได้ งานดังกล่าวจึงจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของคนในประเทศเป็นหลัก ภาคเอกชนจึงเสนอให้ฟื้นมาตรการช้อปช่วยชาติกลับมาอีกครั้ง เพื่อสร้างแรงดึงดูดใจในการช้อปปิ้งมากขึ้น

“มีหลายเรื่องที่เอกชนเสนอมา หนึ่งในนั้นคือ การฟื้นช้อปช่วยชาติ นำมาตรการทางภาษีมาใช้ เนื่องจากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามีสต็อกสินค้าเหลือจำนวนมาก หลังจากต้องปิดธุรกิจชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้มีแนวคิดในการกระตุ้นให้คนไทยในระดับกลางขึ้นไป ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยททท. ได้รับข้อเสนอทั้งหมดไว้แล้ว และจะนำหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งเบื้องต้นอาจหารือร่วมกับกระทรวงการคลังก่อน ว่าจะสามารถฟื้นมาตรการดังกล่าวกลับมาอีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาคลังก็ใช้มาตรการทางภาษีมามากแล้ว” นางสาวฐาปนีย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกับททท.และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่กระทรวงการคลัง เพื่อสรุปรูปแบบการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ที่ใช้ในโครงการเที่ยวปันสุข เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก่อนเปิดตัวใช้งานในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ เบื้องต้นได้สรุปในส่วนของแพลตฟอร์มการลงทะเบียน และขั้นตอนการดำเนินการแล้ว เป็นการเตรียมความพร้อมระบบหลังบ้าน เนื่องจากต้องทำรายละเอียดและสรุปขั้นตอนปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ หลังจากนั้นหากผ่านการอนุมัติ ก็จะเริ่มดำเนินการตามแผนได้ทันที

โดยธนาคารกรุงไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการทำระบบหลังบ้านของทั้ง 3 แพคเกจ ซึ่งจากการหารือกัน พบว่า ธนาคารกรุงไทยมีความพร้อมในการทำแพลตฟอร์มสูงมาก เพราะมีการเรียนรู้จากโครงการชิ้มช้อปใช้มาแล้ว ทำให้ตัวแพลตฟอร์มพัฒนาเพิ่มเติมได้ไม่ยากนัก ส่วนรูปแบบและวิธีการลงทะเบียนหรือใช้งาน ยังต้องรอรวบรวมรายละเอียดเพิ่มเติมก่อน แต่คาดว่าจะใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตุง และเป๋าตัง และแพลตฟอร์มไม่แตกต่างจากชิ้มช้อปใช้ เพราะสามารถเก็บข้อมูลในระบบได้ การตรวจสอบความโปร่งไป ก็จะง่ายตามด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image