‘กรมชล’​ย้ำเกษตรกรเน้นเก็บกักน้ำในอ่างฯให้มากที่สุด

‘กรมชล’​ย้ำเกษตรกรเน้นเก็บกักน้ำในอ่างฯให้มากที่สุด คาดปลายมิ.ย.-ก.ค.ฝนทิ้งช่วง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าวันที่ 23 – 24 มิถุนายน​ 2563 บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 25-27 มิถุนายน 2563 จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมกันนี้ ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม 2563

สำหรับ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,260 ล้านลูกบาศก์เมตร​ (ลบ.ม.)​ คิดเป็น 42% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,611 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,689 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 31% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 993 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,076 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,408 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของแผนจัดสรรน้ำฯ ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 4.43 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 26 ของแผนที่วางไว้ 16.79 ล้านไร่ เฉพาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 1.88 ล้านไร่ คิดเป็น 23% ของแผนที่วางไว้ 8.10 ล้านไร่

นอกจากนี้ กรมฯ ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาวะที่เขื่อนต่างๆ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ด้านการเกษตรจะใช้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำและลำน้ำสาขาให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรณีที่เกษตรกรมีการทำนาปีไปแล้ว จะบริหารจัดการน้ำท่าในแม่น้ำและลำคลองธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ด้วยการทดน้ำ, อัดน้ำ หรือสูบน้ำช่วยเหลือ

Advertisement

นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่เกษตรกรยังไม่ได้ทำนาปี ขอความร่วมมือให้เริ่มทำนาปีในช่วงหลังกลางเดือนกรกฎา​คม 2563 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีฝนตกชุกและมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่ จึงค่อยทำการเพาะปลูก โดยกรมชลประทาน จะเน้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างไม่ขาดแคลน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image