ส่งออกพ.ค.วูบหนัก ลบ27% ต่ำในรอบ130เดือน ปัจจัยโควิด-การเมืองโลก

ส่งออกพ.ค.วูบหนัก ลบ27% ต่ำในรอบ130เดือน พณ.ชี้ปัจจัยโควิด-การเมืองโลก ฉุดกำลังซื้อ โอกาสติดลบกว่า5%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำหนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 16,278.39 ล้านเหรียญสหรัฐ และติดลบ 22.50% ในแง่มูลค่าเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 4 ปีนับจากเมษายน 2559 ในแง่อัตราขยายตัวเป็นตัวเลขติดลบมากสุดในรอบ 130 เดือนนับจากกรกฎาคม 2552 ขณะที่การนำเข้าเดือนพฤษภาคม มีมูลค่า 13,583.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 34.41% และการค้าเกินดุล 2,694.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้การส่งออก 5 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่า 97,898.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 3.71% การนำเข้า มีมูลค่า 88,808.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 11.64% และ การค้าเกินดุล 9,090.56 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากคิดเป็นมูลค่าการค้ารูปเงินบาทเดือนพฤษภาคม ส่งออกมีมูลค่า 524,584.12 ล้านบาท ติดลบ 20.91% นำเข้า มีมูลค่า 443,478.95 ล้านบาท ติดลบ 33.08% การค้าเกินดุล 81,105.17 ล้านบาท ทำให้ 5 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 3,041,719.90 ล้านบาท ติดลบ 5.18% การนำเข้า มีมูลค่า 2,793,188.70 ล้านบาท ติดลบ 13.22% และการค้าเกินดุล 248,531.2 ล้านบาท

“การส่งออกในครึ่งปีหลังจะยังได้รับกระทบต่อเนื่องจากปัญหาการขนส่งที่ทำได้ยากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น และกำลังซื้อในหลายประเทศชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการส่งออกหักน้ำมันและทองคำ ติดบกว่า 27% สะท้อนว่าส่งออกสินค้าได้ยากขึ้นมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ติดลบถึง 60% ขณะที่นำเข้าติดลบมาก สะท้อนกำลังการผลิตเพื่อส่งออกก็น่าจะซบเซาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือนจากนี้ ซึ่งหากมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนที่เหลือปีนี้ทำได้ 1.7-1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปี2563 จะติดลบ 5% จากเดิมประเมินส่งออกเฉลี่ย 1.9 หมื่นล้านสหรัฐ จะติดลบ3 % ขณะที่หากการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจากนี้แค่ 1.6-1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะติดลบมากกว่านี้ ซึ่งเร็วเกินไปว่าจะติดลบถึง 7-8% อย่างที่หลายฝ่ายประเมินไว้หรือไม่ ซึ่งในเดือนมิถุยายนเริ่มเห็นการกลับมาซื้อวัตถุดิบและลงทุนแล้ว“น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในครึ่งปีหลัง ยังเป็นเรื่องความกังวลต่อการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบสอง และการระบาดของโควิด-19 จะต่อเนื่องนานแค่ไหน อุปสรรคด้านการขนส่งยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อแม้ยังมีความต้องการสูง และปัญหาการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และนโยบายหรือการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ แม้ขณะนี้มีผลดีต่อการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้ ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า เช่น การส่งออกไปตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 15.3% และการส่งออกเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรม

Advertisement

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบผ่าน 4 ช่องทาง คือ 1.ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว 2. ความชะงักงันของการผลิต จากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก ขณะนี้เริ่มคลี่คลายบ้างแล้วจากการผ่อนคลายมาตรการในหลายประเทศ 3. ระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่ยังไม่คล่องตัว และ 4. ผลกระทบด้านรายได้ของประเทศคู่ค้า ซึ่งขึ้นกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศ ในระยะนี้ภาครัฐควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและลดทอนผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในภาคการค้าและการส่งออก “น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า จากการหารือและรวบรวมปัญหาจากภาคเอกชน ก็มีข้อเสนอว่า รัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มสินค้าที่ยังมีศักยภาพและขยายตัวได้ดี โดยมี 5 แนวทาง ดังนี้ 1. สนับสนุนบริษัทส่งออกให้เข้าถึงนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อประคองธุรกิจในภาวะที่การส่งออกยังไม่แน่นอนสูง 2.ส่งเสริมการตลาดสินค้าที่มีความต้องการสูงในระยะนี้ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร 3.ตั้งเป้าหมายและสนับสนุนการเข้าถึงตลาดศักยภาพและฟื้นตัวได้ดีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 4. แก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งที่ปรับสูงขึ้นในระยะนี้ และ 5.บริหารความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ การประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในระยะสั้นจากนี้ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในทวีปเอเชียจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่การระบาดในทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อตลาดส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออกไปจีนเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลกฝั่งเอเชียที่การระบาดลดลงในหลายประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยด้านรายได้ของประชาชนในแต่ละประเทศที่ลดลง ผนวกกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าคงทนที่มีราคาสูงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา

ในช่วงถัดไป มีปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออก โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยลบในสถานการณ์ที่ทุกประเทศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้นักลงทุนเลือกย้ายการลงทุนมาฝั่งเอเชียมากขึ้น และอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และกลุ่มโอเปกพลัสร่วมกันลดกำลังการผลิตได้ตามข้อตกลง จะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องในช่วงที่เหลือของปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image