อพท.จับมือ สทท.-6 สมาคมท่องเที่ยวจัด 20 เส้นทางเชื่อมแพคเกจเที่ยวปันสุข ดึง อสม.เที่ยวในพื้นที่

อพท.จับมือ สทท.-6 สมาคมท่องเที่ยวจัด 20 เส้นทางเชื่อมแพคเกจเที่ยวปันสุข ดึง อสม.เที่ยวในพื้นที่

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ 6 สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอาเซียน (อาเซียนต้า) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTAA) จัดส่งบุคลากรลงพื้นที่พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวให้กับ 40 ชุมชนในพื้นที่พิเศษและในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 20 เส้นทาง เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย คุ้งบางกระเจ้า ภูเก็ต เป็นต้น เพื่อผนวกกับส่วนหนึ่งของแพคเกจท่องเที่ยวที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังดำเนินโครงการในแพคเกจท่องเที่ยวปันสุขที่ให้กับกลุ่มอสม.ลงไปท่องเที่ยวในพื้นที่ ตามแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในเดือนกรกฎาคมนี้

“โครงการดังกล่าวเราได้เริ่มแนวคิดมาระยะหนึ่งแล้ว ประกอบกับการที่ททท.และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดทำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 ทางอพท.จึงได้นำเสนอโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแพคเกจด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายรายได้และเยียวยาชุมชนให้มีรายได้หลังจากวิกฤตผ่านพ้น ถือเป็นความโชคดีที่โครงการที่จัดทำแมทกันพอดี”นายทวีพงษ์กล่าวและว่าสำหรับมาตรฐานการรักษาและป้องกันการแพร่ระบาดนั้นจะดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ และหากโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จก็จะเป็นโครงการนำร่องให้กับในปีต่อๆ ที่ทางอพท.จะจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการตลาดให้แก่ชุนชนท่องเที่ยวที่อพท.พัฒนาขึ้นมา

นายทวีพงษ์กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ อพท. ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนขับเคลื่อน อพท.ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565) และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งในปี 2563 อพท. ดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้มาตรฐาน TOP 100 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถให้กับแหล่งท่องเที่ยว 2.การขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) 3 ขยายแนวเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้ครอบคลุมจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี และ 4 การศึกษาเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

นายทวีพงษ์กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่ TOP 100 นั้นเพื่อเป็นการรับประกันมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว ในเวทีระดับนานาชาติ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะ TOP 100 เป็นรางวัล Sustainable Destinations Top100 ซึ่งจะประกาศและจัดพิธีมอบรางวัลที่งานส่งเสริมการท่องเที่ยว ITB Berlin ประเทศเยอรมันนี สำหรับปี 2563 อพท. ตั้งเป้าหมายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบในพื้นที่พิเศษ ให้มีความพร้อมเพื่อยกระดับและส่งเข้าประกวดในเวทีดังกล่าวในปี 2565 และคาดหวังได้อย่างน้อย 2 แหล่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image