‘สศช.’ แจงคืบหน้าโครงการขอใช้งบพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เล็งเข้า ‘ครม.’ 8 ก.ค. ใช้วงเงิน 1 แสนล้านบาทก่อน
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการขอใช้เงินกู้จากพ.ร.ก.เงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่5 – 24 มิถุนายน 2563 พบว่า มีจำนวนข้อเสนอโครงการแลพแผนงานรวมทั้งสิ้นกว่า 46,429 โครงการ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1.456 ล้านล้านบาท โดยคณะทำงานสศช. ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการและแผนงานในรอบแรกแล้ว มีข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 213 โครงการ รวมวงเงิน 101,482.28 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50,000 ล้านบาท การสร้างความเจริญเติบโตในแต่ละด้าน 20,000 ล้านบาท และสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนอีก 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมนำโครงการที่ผ่านการพิจารณาสศช. และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ นำเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะนำโครงการที่ผ่านการพิจารณาเข้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ โดยหลังจากมีโครงการแรกออกมาแล้ว จะมีโครงการในระยะ 2-3 ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าระยะ 2 จะออกมาในสิงหาคม 2563 ส่วนรอบ 3 เป็นเดือนกันยายน 2563
“การนำโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แล้วเข้าเสนอครม. วงเงินที่โครงการขอใช้งบประมาณอาจไม่ถึง 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะเหลือประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากยังต้องพิจารณาในส่วนความเหมาะสมในการขอใช้งบประมาณ ที่หากพบว่ามีการขอเข้ามามากเกินความจำเป็น ก็จะถูกปรับลดงบประมาณลง โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 4 แสนราย เกิดมูลค่าผลผลิตใหม่ในระยบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 เท่า โดยตัวโครงการที่ถูกปัดตกไป ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน หรือผลประโยชน์ไม่ได้ลงสู่ประชาชาจริง แต่ไปลงสู่ที่ปรึกษา หรือผู้รับเหมาแทน จึงไม่อนุญาตให้ใช้งบก้อนนี้” นายทศพรกล่าว
นายทศพรกล่าวว่า การใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน กองทุนหมู่บ้าน และโลจิสติกส์ 2.การลงทุนกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ในอนาคต เน้นเกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจชีวภาพ ท่องเที่ยวคุณภาพ และ 3.กระตุ้นการอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศ โดยจำแนกเป็น 4 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงาน 3.1 พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แผนงาน 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน แผนงาน 3.3 ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน และ แผนงาน 3.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน