เอกชนหวังงบ 64 ช่วยฟื้นศก.ปลายปี ห่วงส่งออกถูกเลื่อนชำระเงินทรุดหนัก

คอฟฟี่เบรก : ไม่ใช้แน่นอน
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงกรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3,300,000 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรวาระแรก ว่า จากการติดตามวงเงินงบประมาณ 2564 ที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการมั่นใจว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2564 โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐที่เป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพราะหากจะคาดหวังการลงทุนจากภาคเอกชนต่างประเทศน่าจะไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ที่โควิด-19 ในหลายประเทศยังไม่คลี่คลาย

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้หลายภาคส่วนจับตาการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ที่กำหนดเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ว่า มีโครงการใดบ้างที่ผ่านการพิจารณาล็อตแรกและเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือนกรกฎาคมนี้ เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการประคองให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนก่อนที่งบประมาณ 2564 จะประกาศใช้ อีกเงินกู้ที่เอกชนจับตาเช่นกันคือ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารชาติสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งปัจจุบันเพิ่งปล่อยสินเชื่อได้เพียง 8-9 หมื่นล้านบาท เพราะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ที่ ธปท.กำกับดูแล ดังนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนกองทุนเฉพาะเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี จะวงเงินเท่าไรก็ได้ แต่อยากให้มีโดยด่วน เพราะเครื่องมือนี้จะเข้ามาเสริมให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนไปได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ประเมินภาคการส่งออกยังไม่สดใสเท่าที่ควร แม้ไทยจะคลายล็อกดาวน์จนเกือบเป็นปกติแล้ว แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบลง ความต้องการในสินค้าจึงไม่เพิ่มมากขึ้นนัก โดยเฉพาะสินค้าคงทน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ มีเพียงสินค้าเกษตรและอาหารเท่านั้น ยังส่งออกได้ดี ทั้งปีนี้ประเมินว่าภาคการส่งออกไทยจะติดลบ 8%

นายสนั่นกล่าวว่า นอกจากนี้ความกังวลในภาคการส่งออกยังมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากคู่ค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถชำระค่าสินค้าส่งออกได้ตรงตามเวลา หรือเกิดการถูกเบี้ยวหนี้ขึ้น เพราะมีบางธุรกิจต้องประสบภาวะล้มละลาย หรือบางรายถูกเลื่อนชำระเงินออกไป ปัจจุบันพบว่าปัญหาดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นกว่า 200% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในระยะไกล อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกา และยุโรป จะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยไม่มีรายได้มาหมุนเวียนในธุรกิจ ดังนั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม หอการค้าไทยจะหารือร่วมกับผู้ส่งออกไทย กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อหารือในเรื่องปัญหา และอุปสรรคที่ผู้ส่งออกไทยกำลังเจอในขณะนี้

Advertisement

………………….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image