‘สรท.’หั่นส่งออกปี’63 เหลือ -10% พร้อมเตรียมยื่นหนังสือเสนอนายกฯ พิจารณาค่าเงินบาท
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่า สรท. ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกไทยปี 2563 ติดลบ10% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ8% บนสมมติฐานค่าเงิน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยความวิตกกังวลทั่วโลกที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 รวมถึงปัจจัยค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่า ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่อาจกลับมาปะทุอีกครั้ง
สำหรับ สถานการณ์การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเป็นการลดลงติดลบ22.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้ามีมูลค่า 13,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงติดลบ 34.41% ส่งผลให้เดือนพฤษภาคม 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2563 หรือระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ไทยส่งออกรวมมูลค่า 97,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงติดลบ 3.71% โดยการนำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงติดลบ 11.64% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ประเทศไทยเกินดุลการค้า 9,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้การส่งออกสินค้าและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผลไม้สด แช่เย็น และแห้งจะขยายตัวดีถึง 20.9% หรือมีมูลค่าถึง 2,016 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ตาม แต่ภาพรวมส่งออกเดือนพฤษภาคมยังนับว่าปรับลดรุนแรงมากที่สุดในรอบ 130 เดือน หรือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552
นางสาวกัณญภัค กล่าวต่อว่า โดยปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อการส่งออก คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้หลายประเทศยังต้องปิดประเทศอยู่ ส่งผลต่อปัญหาด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะยังกระทบต่อการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับลดมากถึง 60% ส่วนปัจจัยบวกจากการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (7 กรกฎาคม) ทางสรท.ได้เตรียมหนังสือเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาแนวทางลดผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าแล้ว มองว่าค่าเงินบาทควรอยู่ในระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะทำให้ภาคการส่งออกสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ มีข้อเสนอถึงภาครัฐ อาทิ ขอให้ลดและยกเว้นอากรขาเข้าเพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิต และกำหนดนโยบายการเก็บภาษีตามขั้นบันไดสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เป็นต้น