‘เฟทโก้’ มองภาพเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์ เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยหนักสุด
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัจจัยที่สร้างความกังวลหลักต่อภาพรวมและตลาดหุ้นไทย เป็นสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์แล้ว เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป เนื่องจากขณะนี้มีการคลายล็อกจนเกือบเป็นปกติแล้ว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ 100% ซึ่งยังไม่แน่ใจเลยว่า ขณะนี้สามารถกลับมาได้ถึง 50% หรือยัง เพราะหากประเมินตามจำนวนประชาชนที่กลับมาเดินห้างสรรพสินค้าพบว่า จำนวนลดน้อยลงมากกว่าปกติ ทำให้ปัจจัยเสี่ยงที่สุดในขณะนี้คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาเติบโตในระยะถัดไป ว่าจะทำได้มากหรือน้อยเท่าใด โดยส่วนสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะเห็นภาพตรงนี้ชัดเจนมากเท่าใด มีการรับมืออย่างไร เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้มาก่อน อาทิ พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก่อนออกโครงการมาจะต้องสามารถบอกได้ว่าโครงการเหล่านั้น จะทำให้เกิดการจ้างงานได้มากน้อยเท่าใด อาทิ หากปกติมีการจ้างงาน 7-8 ล้านคน แต่โครงการจากเงินกู้จ้างงานเพิ่มได้เพียง 4-5 ล้านคน ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ทำให้ทิศทางภาพรวมเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเกี่ยวเนื่องกัน
“การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการปรับนโยบายด้านตลาดทุนของรัฐบาล ประเมินว่าไม่ได้มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการทำงานร่วมกับภาครัฐมากนัก นอกเหนือจากกองทุนพิเศษที่อาจมีเข้ามาช่วยบ้าง อาทิกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (เอสเอสเอฟเอ็กซ์) ซึ่งหมดอายุตามกำหนดแล้วในช่วงที่ผ่านมา” นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือนกรกฎาคม 2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือภายในเดือนกันยายน 2563 อยู่ในเกณฑ์ ทรงตัว ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 101.19 (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยดัชนีปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 4% จากเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับ 96.93 แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นบรรยากาศที่ดี และสะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่มองว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยนักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือ นโยบายภาครัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน ขณะที่ความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยประจำไตรมาส 2 เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือ การไหลเข้าออกของเงินทุน และนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงยังคงกังวลการเกิดโควิด-19 ระบาดระลอก 2 ด้วย
นายไพบูลย์กล่าวว่า ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายกลุ่ม ค่อนข้างมีความน่าสนใจ โดยมีเพียงกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลเท่านั้น ที่ความเชื่อมั่นปรับตัวลงอยู่ในระดับซบเซา ค่าดัชนีอยู่ที่ 71.79 ซึ่งสามารถประเมินว่า เป็นเพราะดัชนีปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมาก จากที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองของนักลงทุนระยะสั้น ที่มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ส่วนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติปรับขึ้นมาอยู่ในระดับร้อนแรง ที่ 125.00 ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับทรงตัว ที่ 100.00 และสถาบันในประเทศ ค่าดัชนีปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับทรงตัว ที่ 100.00 ซึ่งมุมมองของนักลงทุนทั้ง 4 กลุ่มไม่สอดคล้องกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงมุมมองของกลุ่มนักลงทุน จากในช่วงที่ผ่านมามองว่า ดัชนีจะเป็นขาขึ้นในระยะสั้นๆ จากการที่ปรับลดลงค่อนข้างแรง แต่ขณะนี้ดัชนีเคลื่อนไหวในระดับ 1,300-1,400 จุด เริ่มมีแรงเทขายเข้ามาในตลาด มุมมองในช่วงถัดไปจึงมีความแตกต่างกัน โดยส่วนตัวประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยคงไม่สามารถเคลื่อนไหวในกรอบระดับสูงๆ ได้ หากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสะท้อนภาพเชิงบวกที่ชัดเจนมากกว่านี้ ในส่วนของหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ อาหารและเครื่องดื่ม ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ ธนาคาร จากเดิมที่ไม่สนใจหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว แม้หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวก็จะยังไม่สนใจอยู่เช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้มองว่าหุ้นกลุ่มแบงก์ไม่น่าสนใจมากกว่า เพราะประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผลประกอบการและกำไรไม่สดใสเท่าที่ควร
“แนวโน้มเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังอยู่ในทิศทางการไหลออก โดยตลาดหุ้นไทยถือว่ามีการไหลออกมากของเงินทุนต่างชาติมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งหากมองทั้งปีประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะไหลออกจากทุกตลาดในภูมิภาค เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่เกิดโควิด-19 นักลงทุนจึงไม่ชื่นชอบการลงทุนในตลาดหุ้นมากนัก โดยมองว่าโอกาสที่หุ้นไทยจัปรับตัวลงในระดับลึกๆ คงเป็นไปได้น้อย เพราะราคาหุ้นในปัจจุบัน ได้สะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไปมากแล้ว แต่ในระยะสั้นๆ ภาพรวมอาจยังไม่ได้ดีมากนัก จึงมองว่าหากนักลงทุนสนใจที่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยควรลงทุนในระยะยาว เนื่องจากคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว” นายไพบูลย์กล่าว