“พิชัย” ชี้ฟื้นศก.ได้ ผู้นำต้องฉลาด-เก่ง แค่จริงใจช่วยไม่ได้ แนะ 6 ทางออก
วันที่ 8 ก.ค. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนา แนะทางออกไทยหลังโควิด ครั้งที่ 2 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโดยสภาที่ 3 ว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงมาที่ติดลบ – 10.3% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะติดลบมากถึง -17% และไทยต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการฟื้นกลับมาที่เดิม ดังนั้นการที่ไทยจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจกลับมาเข้มแข็งได้จะต้องมีผู้นำที่ฉลาดและมีวิสัยทัศน์ ผู้นำที่บริหารประเทศมากว่า 6 ปี เศรษฐกิจขยายตัวต่ำเตี้ย แถมล่าสุดยังโกรธที่ถูกกล่าวหาว่าฉลาดน้อยในสภา ทั้งที่ยอมรับเองว่าไม่เก่งเท่า ส.ส. ในสภาและเคยบอกเองว่า ไม่เก่งเศรษฐกิจ ไม่น่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาได้ ความจริงใจแต่ไม่เก่งคงไม่สามารถช่วยอะไรได้ และไม่น่าใช่ทางออกของประเทศนี้
ทั้งนี้ ปัญหาความไม่เชื่อมั่นของรัฐบาลหลังการปฏิวัติทำให้การลงทุนหดหายและการส่งออกแทบไม่ขยายตัวเลยตลอด 6 ปี แถมมีรัฐบาลที่สื่อต่างประเทศเชื่อว่าเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ได้ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่หนักอยู่แล้วและเมื่อมาเจอกับวิกฤตไวรัสโควิดจึงทำให้เศรษฐกิจยิ่งทรุดหนักว่าประเทศอื่น และจะหนักมากที่สุดเท่าที่เคยเจอ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นได้เลยถ้ายังบริหารเหมือนในปัจจุบัน และการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ข่มขู่ ส.ส.พรรคก้าวไกลให้ระวังตัวให้ดี ยิ่งตอกย้ำความเป็นเผด็จการและทำลายความเชื่อมั่นของประเทศหนักขึ้นไปอีก ซึ่งหากจำกันได้ ในอดีตพลเอกประยุทธ์ได้เคยข่มขู่ตนหลายครั้งทางทีวี และนำมาสู่การเรียกตนไปปรับทัศนคติ 8 หน และเรียกดำเนินคดีอีก 4 หนเพียงเพราะผมเตือนและวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจตามความจริง และสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นตามที่ผมได้เตือนไว้จริง ซึ่งพลเอกประยุทธ์น่าจะได้สำนึกแล้ว และอยากให้คิดว่าคนที่เห็นต่างและตักเตือนไม่ได้แปลว่าเขาเป็นศัตรู และต้องเปิดใจฟังกันบ้าง ก่อนที่ประเทศไทยจะยิ่งย่ำแย่และทรุดหนักไปกว่านี้
อย่างไรก็ดี ตามที่ได้เสนอให้พลเอกประยุทธ์ ได้ศึกษาหนี้ 5 ประเภท คือ 1) หนี้สาธารณะที่จะพุ่งทะลุเกิน 60% 2) หนี้ครัวเรือนที่จะเพิ่มถึง 90% 3) หนี้ภาคธุรกิจที่จะทำให้ธุรกิจล้มลายและคนตกงาน 8-10 ล้านคน 4) หนี้เสียภาคการเงินที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ และ 5)หนี้นอกระบบที่จะทำให้เกิดการฆ่าตัวตายและการก่ออาชญากรรม จี้ ปล้น ฆ่า ซึ่งจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยทรุดลงไปอีกถ้ารัฐบาลไม่รู้จักวิธีการแก้ไข ดังนั้นจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขหนี้และฟื้นเศรษฐกิจ 6 แนวทางดังนี้
1. ต้องเปลี่ยนรัฐบาล ในเมื่อรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ก็ต้องเปลี่ยนรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นได้ รัฐบาลอาจจะทดลองปรับ ครม. แต่สุดท้ายก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไข เพราะปัญหาอยู่ที่ผู้นำ
2. ต้องสร้างรายได้ การแก้หนี้ที่ดีที่สุดคือการสร้างรายได้ โดยต้องคำนึงการสร้างรายได้ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ โดยต้องมีแผนงานชัดเจนว่าจะหารายได้จากไหนในอนาคต ในส่วนของรัฐ รัฐต้องหารายได้เพิ่มนอกจากจะหวังพึ่งจากภาษีอย่างเดียว เพราะเศรษฐกิจจะย่ำแย่รัฐจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้ามาก ในส่วนของ ภาคธุรกิจก็จะต้องสร้างแนวทางใหม่ให้เข้ากับอนาคตของโลก และ ครัวเรือนก็เช่นกัน ทั้งหมดนี้รัฐบาลเองต้องเป็นผู้ช่วยกำหนดแนวทางและสนับสนุน และต้องไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคเหมือนในปัจจุบัน
3. ต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะภาครัฐ เพราะปัจจุบันการใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องจักรเดียวที่เหลืออยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องเลิกคิดได้เลยว่าจะซื้ออาวุธเพื่อลูกหลาน เพราะไทยไม่ได้รบกับใคร และอาวุธก็จะล้าสมัยไปเรื่อยๆ นอกจากลูกหลานจะด่าแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เหมือนไฟกำลังไหม้บ้านแต่กลับเอาน้ำไปรดต้นไม้ ดังนั้น ทุกๆ บาทของเงินงบประมาณที่จะใช้จะต้องคำนึงว่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร เพิ่มจีดีพีเท่าไหร่ การใช้โดยไม่เพิ่ม จีดีพี หรือเพิ่มน้อยต้องถูกจัดลำดับท้ายๆ เลย และสำหรับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน การที่จะต้องถือเงินสดให้มากที่สุดและใช้จ่ายอย่างประหยัดเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เพราะยังไม่ทราบเลยว่าวิกฤตไวรัสโควิดนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่
4. การเข้าถึงแหล่งทุน การที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้รัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินอีกเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลจะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเงินที่กู้มานั้นจะต้องใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่การใช้เงินกระตุ้น 4 แสนล้านบาท และ การจัดงบประมาณปี 64 ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้เงินถูกทาง ซึ่งจะเป็นปัญหาเพิ่มขึ้น ถ้ารัฐบาลใช้เงินแล้วจีดีพีเพิ่มสูง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะลดลงได้เอง แม้รัฐบาลจะใช้เงินมาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องใช้เงินให้ถูกทาง นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องหาแหล่งเงินให้กันภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ให้สามารถกู้ยืมก่อนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกเพื่อให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปให้ได้ การเสนอซอฟต์โลนจำนวนมากในช่วงนี้จึงจำเป็นและควรเลือกว่าธุรกิจประเภทใดจะเป็นอนาคตที่รัฐควรสนับสนุน
5. การปรับปรุงประเทศให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาความเชื่อมั่นและการยอมรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปรับปรุงแก้ไขระบบยุติธรรม องค์กรอิสระ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นสากลเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ความปรองดองสมานฉันท์ และการปรับแก้กิริยามารยาทของผู้นำ จะช่วยฟื้นการยอมรับและฟื้นความมั่นใจของคนในประเทศและต่างประเทศได้
6. แนวคิด ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ยังเป็นแนวทางที่ใช้ได้เสมอ รัฐบาลจะต้องกลับมาคิดว่าแนวทางใดที่จะลดค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น การลดราคาพลังงาน การลดราคาสาธารณูปโภค เช่น ลดค่าโดยสาร การลดค่าไฟฟ้าประปา ฯลฯ และ การลดภาษีบางประเภทด้วย การเพิ่มรายได้ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มรายได้ของประชาชนในแนวทางต่างๆ และ การสร้างงานเพื่อให้เกิดการจ้างงาน หรืออย่างน้อยต้องรักษางานเดิมไว้ การขยายโอกาส ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การที่ประเทศไทยจะฟื้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลต้องสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ อย่างเช่นเรื่องการสร้างบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือ ยูนิคอร์น ที่ตนพูดมาหลายปีแล้ว แต่รัฐบาลพึ่งจะมานึกได้ เป็นต้น ในขณะที่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนก็ควรจะต้องคิดในแนวทางนี้
นี่เป็นแนวคิดพื้นฐานในการฟื้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรจะต้องคิดได้อยู่แล้ว แต่กลับไม่เห็นเคยทำ หรืออาจจะทำไม่เป็น ดังนั้นจึงอยากให้นำไปคิด และหาทางปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้ ถ้ารู้ตัวเองว่าขาดความรู้และไม่ฉลาด ก็ต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม หรือหาคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ใช่พวกขายฝันไปวันๆ ว่าจะเป็นมังกรบินบ้าง คนจนจะหมดไปบ้าง ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน เศรษฐกิจไทยจะไม่มีทางฟื้นได้