ภาคเอกชน มองข้ามช็อต โฟกัสเลือกตั้ง-เหนือ7ส.ค.

เจน นำชัยศิริ-อิสระ ว่องกุศลกิจ-วัลลภ วิตนากร

หมายเหตุ – ภาคเอกชนให้ความเห็นถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญต่อเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากรับฟังเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ร่วมกับ กรธ. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้ให้แก่สมาชิกของ กกร. ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา

รับฟังเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์

เจน นำชัยศิริ

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

หลังจากฟังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทำให้เข้าใจภาพรวมมากขึ้น นายมีชัยชี้แจงได้ดี โดยเฉพาะประเด็นความแตกต่างระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับรัฐธรรมนูญฉบับเก่า

Advertisement

มีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยและภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น เห็นว่ามีส่วนดีมากกว่าข้อเสีย โดยข้อดีที่เป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจ คือการอำนวยความสะดวก การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และมีมิติใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เขียนไว้ครอบคลุม แต่จะทำได้จริงหรือไม่นั้น คงต้องติดตามต่อไป

เรื่องการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากต่างชาติไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นสำคัญ แต่มองเรื่องโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ และจะส่งผลอย่างไรมากกว่า เพราะไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ต่างชาติก็ต้องทำตามกติกาคนไทยที่ต้องปฏิบัติ

ส่วนกรณีถ้าโรดแมปและการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นตามกำหนดเชื่อว่าก่อนหน้านั้นจะมีเหตุการณ์อื่นๆ เกิดขึ้นก่อนมากมาย ซึ่งต้องประเมินอีกครั้ง

Advertisement

ทั้งนี้ สำหรับการลงประชามติของประชาชน คิดว่าประชาชนจะมีการพิจารณาตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นคงต้องติดตามกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไม่มีความกังวลในกระบวนการทำประชามติ เพราะรัฐบาลต้องดูแลเรื่องนี้อย่างดีอยู่แล้ว ส่วนประเด็นที่มีบางกลุ่มมีความคิดเห็นต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น เห็นว่าสามารถทำได้ตราบใดที่ไม่กระทบ หรือลิดรอนสิทธิของคนอื่น

 

อิสระ ว่องกุศลกิจ

ประธานคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

หากประเทศไทยมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันจากนานาชาติให้ลดลงได้ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจที่มักระบุว่าประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้ง และจะเกิดความมั่นคงเพิ่มขึ้น

ส่วนกรณีหากผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้จะต้องมีการประเมินสถานการณ์ต่อไปอีกครั้งหนึ่งหลังวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ว่าจะมีการเลือกตั้งอยู่หรือไม่ แต่ทั้งนี้ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยยืนยันก่อนหน้านี้แล้วว่าจะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเมืองไทยแน่นอน ดังนั้น เอกชนคงต้องจับตามองในเรื่องนี้ต่อไป ไม่อาจคาดเดาได้ในตอนนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

ร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฉบับใดก็ตาม เมื่อออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการก็คือช่วยให้บ้านเมืองสงบ นโยบายเศรษฐกิจเดินหน้าและดีขึ้นต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินต่อไปได้ไม่สะดุด เพราะขณะนี้ประเทศไทยจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ กกร.จะนำไปเผยแพร่แก่สมาชิกทั่วประเทศต่อไป แต่ก็เป็นสิทธิส่วนตัวของสมาชิกแต่ละรายที่จะพิจารณาด้วยตัวเองว่าจะออกไปใช้สิทธิ ออกเสียง รับหรือไม่รับร่างธรรมนูญ โดย กกร.จะไม่มีการลงเป็นมติในเรื่องนี้ แต่จะเพียงเชิญชวนให้สมาชิกทุกคน ไปใช้สิทธิในการลงประชามติในครั้งนี้

สำหรับความเห็นส่วนตัว มีความเป็นห่วงว่าคนหนุ่มสาว หรือประชาชนทั่วไปบางส่วนที่จะยังไม่มีการรับรู้ในเรื่องนี้เท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่จะเป็นผู้ที่ดูแลประเทศไทยต่อไปในอนาคต ดังนั้น เมื่อรับฟังข้อมูลจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ครั้งนี้แล้ว ก็จะพยายามสื่อออกไป เพื่อให้แต่ละคนออกไปใช้สิทธิออกเสียงว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เพื่ออนาคตของประเทศชาติต่อไป

เรื่องที่ผมไม่สบายใจ และเป็นความกังวลของภาคเอกชนในขณะนี้ ก็คือภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้นในยุโรปหลายประเทศ จนกลายเป็นประเด็นปัญหาที่น่ากังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

แต่สำหรับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ กกร.ยังไม่ปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยยังคงวาดหวังเป้าหมายเดิมอยู่ที่ระดับ 3% ถึง 3.5% เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีออกมาค่อนข้างมาก ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตร แนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว น้ำตาล และยางพารา มีเพียงมันสำปะหลังที่ยังไม่ดี น่าเป็นห่วง

 

วัลลภ วิตนากร

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ผลลัพธ์ออกมาจะรับหรือไม่รับ ไม่ใช่สาระสำคัญ และมองว่าไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลมีความชัดเจนในโรดแมปเรื่องการเลือกตั้งในปี 2560 อยู่แล้ว ตรงนี้ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากนานาประเทศไม่ได้สนใจร่างรัฐธรรมนูญของไทยเป็นอย่างไร แต่เขาสนใจเรื่องกระบวนการเลือกตั้งมากกว่า อย่างพม่า รัฐธรรมนูญอาจไม่ได้ดีกว่าประเทศเรา ดังนั้น จึงขอให้เป็นไปตามโรดแมปปี 2560

การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คงไม่สำคัญมากไปกว่าการมีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ เพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจากนานาชาติแล้ว และภาคเอกชนก็เห็นด้วย

เบื้องต้น ภาคเอกชนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมด แต่ก็ยอมรับว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มีส่วนดี การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้มาช่วยอธิบายร่างรัฐธรรมนูญให้ภาคเอกชนรับฟัง จะช่วยภาคเอกชนมีความเข้าใจมากขึ้น และช่วยเผยแพร่ในหมู่สมาชิก กกร.รับทราบ

ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เห็นว่าข้อบัญญัติต่างๆ ไม่ค่อยบังคับเยอะเหมือนที่ผ่านมา เพราะไม่เปิดทางให้ข้าราชการออกข้อกำหนด ข้อบังคับ ข้อระเบียบต่างๆ มากจนเกินไปเหมือนในอดีต จนกระทบต่อขั้นตอนการติดต่อประสานงานต่างๆ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้ง่าย สะดวกมากขึ้น เกิดความคล่องตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในภาวะที่การแข่งขันทางธุรกิจของประเทศต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น

ที่สำคัญ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังช่วยอุดช่องโหว่ ป้องกันการทุจริตขึ้นได้มากกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image