มุมมองธุรกิจเปลี่ยน สู่ยุค ‘นิวนอร์มอล’

มุมมองธุรกิจเปลี่ยน สู่ยุค ‘นิวนอร์มอล’

และแล้วประเทศไทยก็เดินทางมาถึงวันที่กล้าพูดได้เต็มปากแล้ว สามารถใช้มาตรการบังคับในการไล่เชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศนานต่อเนื่องถึง 44 วัน

จากการแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกล้วนน่าเป็นห่วง ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่หลายชาติต่างเปิดทางให้เข้าประเทศได้ รวมถึงกลุ่ม ‘อียู’

แต่สิ่งที่เหมือนกันระหว่างชาติที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต กับชาติที่ป้องกันจนโรคใกล้สงบเข้าไปทุกทีคือ ‘การคลายล็อก’ เพื่อปลุกชีพเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเคลื่อนไหว มีเงินสะพัดเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจอีกครั้ง

Advertisement

ภายใต้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปสู่รูปแบบใหม่ นิวนอร์มอล (new normal)

ประเทศไทยคลายล็อกเฟส 5 ในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกำชับมาตรการดูแลเข้มข้นมิให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำรอบสอง

รวมทั้งแผนเปิดเส้นทางบินให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาประเทศไทยอีกครั้ง

Advertisement

โดย พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์ ศบค.กล่าวเปรียบเทียบให้เห็นว่า การต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 เหมือนการชักเย่อ ก่อนหน้านี้ประเทศไทย มีกำลังหลักและกำลังเสริม กำลังเสริม คือมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการระบาด

แต่ปัจจุบันมาตรการต่างๆ ได้ถูกผ่อนคลายมาจนถึงระยะที่ 5 แล้ว

คงเหลือกองกำลังหลัก คือ 2 มือของพี่น้องประชาชน

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การคลายล็อกดาวน์เฟส 5 ใน 5 กลุ่มธุรกิจ ไม่เพียงจะส่งผลดีต่อธุรกิจบริการ ธุรกิจบันเทิงเท่านั้น

แต่ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

“ขณะเดียวกัน มาตรการอนุญาตให้นักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้การดำเนินธุรกิจทำได้ดีขึ้น และมีผลต่อเศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น หรือลบน้อยลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่คั่งค้างอยู่ในช่วงครึ่งปีแรกจะดำเนินการได้ต่อเนื่อง สำหรับประเทศกลุ่มแรกที่อนุญาต อาทิ เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ก็ล้วนแต่เป็นนักลงทุนหลักที่เข้ามาลงทุนในไทย”สุพันธุ์กล่าว

ไม่ว่าทั่วโลกจะคลายล็อกทางเศรษฐกิจที่สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่วนประเทศไทยก็เดินหน้าดูแลป้องกันปล่อยให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

ต่างก็ลุ้นว่า เมื่อมี ‘วัคซีนโควิด’ ฉีดในมนุษย์ได้แล้ว การดำเนินชีวิตหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

สัคศิษฏ์ มุ่งการ เลขาธิการสภาอุสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด ให้ความเห็นว่า แม้ประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ หากผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส โควิด-19 ได้แล้ว ก็ยังไม่ควรไว้วางใจว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นมาอีก ต้องมีมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเหมือนที่มีการปฏิบัติมา ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมใส่หน้ากากอนามัยและการล้างมือ ที่สามารถปฏิบัติเหมือนปกตินิสัย ธุรกิจด้านการบริการนักท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องเข้มงวด และทำให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของทุกคน

“ส่วนการทำงานที่ออฟฟิศ คงจะลดลงและทำเวิร์กฟอร์มโฮมที่บ้านแทนมากขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จะได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก ในเมื่อคนใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้น แต่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวหากไม่ปรับตัว เช่น ช่วงวันหยุดยาว 4 วันที่ผ่านมา (4-7 ก.ค.) นักท่องเที่ยวใน จ.ตราด มีมากกว่า 2 หมื่นคน เฉพาะไปที่ อ.เกาะช้าง กว่า 1 หมื่นคน แต่รายรับของผู้ประกอบการกลับลดลงกว่า 40% ที่เป็นเช่นนี้ เพราะต้องลดราคาค่าที่พัก และค่าอื่นๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายลดลง”

“วันนี้ธุรกิจโรงแรมไม่ได้สวยหรูอีกแล้ว ร้อยละ 20 ของโรงแรมในเกาะช้างอาจต้องเปลี่ยนมือ หรือต้องเปลี่ยนผู้บริหาร หรือเปลี่ยนเชนใหม่ เพราะอยู่ไม่ได้ รายได้ที่ลดลง นักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายเงินไม่เหมือนต่างประเทศ ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งร้านอาหารต้องลดราคาให้เป็นที่จูงใจ ส่วนธุรกิจขนส่งนักท่องเที่ยวทั้งรถโดยสาร สายการบิน ก็ได้รับผลกระทบมาก เพราะมีการจำกัดการเดินทาง แม้จะมีวัคซีนแต่นักท่องเที่ยวจะหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น”

ขณะที่ สุทธิลักษณ์ คุ้มครอง ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด ให้ความเห็นว่า “หากประเทศไทยมีวัคซีนแล้วก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะไวรัสโควิด-19 ก็เหมือนกับเชื้อโรคติดต่อ เป็นโรคประจำถิ่นของประเทศนั้น การดำเนินธุรกิจก็กลับมาอยู่ในสภาพที่ต้องเปลี่ยนไป ธุรกิจได้ถูกให้หยุดทำไป 3 เดือน ธุรกิจขนาดใหญ่อาจได้อานิสงส์จากประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ต้องหยุดงานไป แต่หลังจากนี้ คือ เดือนกรกฎาคมผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างร้อยละ 75 แล้วผู้ประกอบการจะเอารายได้ที่ไหนมาให้ เพราะรายได้ยังไม่เกิดขึ้น และเงิน 4 แสนล้านที่รัฐบาลนำมาปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการวันนี้ยังไม่สามารถปล่อยกู้ได้ตามเป้าหมาย เพราะติดเงื่อนไขหลายอย่างจากธนาคารพาณิชย์ที่มีเงื่อนไขว่า หากผู้ประกอบการจะกู้จะต้องไม่พักชำระหนี้ จะต้องไม่มีหนี้เสีย เรื่องนี้จึงเกิดปัญหาขึ้นมาทันที”

“สิ่งที่ต้องมองต่อไปก็คือ การประกอบธุรกิจที่จะไม่เหมือนเดิม แม้จะมีวัคซีนเพราะผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ และใช้ชีวิตเเบบใหม่ ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนธุรกิจไม่ทันจะเสียโอกาส หรืออาจจะต้องถูกดิสรัปต์ไปและอาจจะกลับมาไม่ได้ แต่ก็มีบางธุรกิจที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น ธุรกิจขนส่งสินค้า ที่ผู้บริโภคหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น และจะเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจการบิน หรือรถโดยสารสาธารณะอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน”

ดำรงค์ องอาจ ผู้บริหารสนามบินเชียงใหม่แอร์สปอร์ต ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคเหนือ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทดลองวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ก่อนนำมาใช้ในปีหน้าว่า เป็นข่าวดี และสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน ส่งผลให้การค้า การลงทุน และท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตการณ์โควิดระบาด ทำให้ผู้ประกอบการได้ถอดบทเรียนการดำเนินธุรกิจ ต้องมีแผนสำรองหากเกิดภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดรุนแรง ต้องประหยัดและรัดกุมค่าใช้จ่าย ไม่ลงทุนเกินตัว ที่สำคัญต้องมีเงินสำรอง หรือทุนหมุนเวียนไว้ใช้ฉุกเฉิน หลังรัฐผ่อนปรนหรือคลายล็อกเฟส 5 แล้ว ผู้ประกอบยังประสบภาวะขาดทุน เหมือนคนใกล้จมน้ำ หากเกิดโรคระบาดรอบใหม่เชื่อว่าเศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้ประกอบการจมน้ำตาย โอกาสฟื้นตัวยากมาก จึงไม่อยากคิดเรื่องดังกล่าวอีก” นายดำรงค์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image