เอกชนหนุนตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูศก.” ประสานเสียงเร่งใช้จ่ายในปท.

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม กรณีพ.ล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดบให้มีคณะกรรมการดูแลเหมือนศบค.

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้งศูนย์ฯ นี้อย่างยิ่ง เป็นการปรับตัวเพื่อสอดรับกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ เพราะการแพร่ระบบาดของโควิด-19 ไม่ใช่สถานการณ์ปกติทั่วไป การมีภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมจะทำให้รู้ทิศทางของมาตรการได้รวดเร็วมากขึ้น การที่เอกชนเข้าไปมีส่วนช่วยแสดงความคิดเห็น เชื่อว่าจะช่วยภาคธุรกิจได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปัจจุบันยังมีอีกหลายธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือได้ การที่ภาคเอกชนทำงานร่วมกับรัฐบาลจะสามารถหาวิธีรับมือได้อย่างรวดเร็ว หรืออย่างน้อยจะรู้ก่อนว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง ต่างจากปกติต้องให้ภาครัฐประชุมหารือก่อนเอกชนจะรับรู้พร้อมภาคประชาชน แต่เมื่อมีการร่วมงานกันแล้วเชื่อว่ามีโอกาสที่จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากภาคเอกชนอย่างแน่นอน

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ศูนย์ฯต้องเร่งดำเนินการ คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ผลักดันในเกิดการใช้จ่ายให้ได้ผลเร็วที่สุด ช่วงนี้ยังหวังพึ่งกลไกลจากต่างประเทศไม่ได้ หลายประเทศเริ่มกีดกันทางการค้าและหันมาใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะถดถอย วิธีเดียวที่ต้องเร่งดำเนินการในตอนนี้คือ มุ่งเน้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นทิศทางที่ดี ที่ทางรัฐบาลได้เชิญภาคเอกชน อาทิ ส.อ.ท, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.), ภาคการท่องเที่ยว สมาพันธ์เอสเอ็มอี และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น ร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย เข้าใจถึงปัญหาและแก้ไขได้อย่างตรงจุดมากขึ้น เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการแก้ไขให้เกิดการกระตุ้นใช้จ่ายในประเทศได้อย่างถูกจุดประสงค์ ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของนายกฯต้องการเป็นนายกฯแบบนิวนอร์มอล จะเห็นจากการเดินสายสร้างความเข้าใจกับทุกกลุ่มรวมถึงสื่อมวลชน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจในเรื่องการดำเนินการของภาครัฐมากขึ้น

Advertisement

นายเกรียงไกร กล่าวว่า หากเอกชนร่วมเสนอข้อเท็จจริง แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท จะได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจนกว่าจะผ่านช่วงโควิด-19 คาดว่าต้องใช้เวลาควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงปี 2564 หรือจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีนใช้รักษาต่อไป สิ่งที่ศูนย์ฯต้องเร่งดำเนินการคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วัดได้จากมาตรกรสินเชื่อ 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียง 9 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20% ต้องรีบช่วยเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ประคองธุรกิจไปได้โดยด่วน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด หากไม่รีบแก้ไขอาจกระทบเป็นโดมิโนทำให้ธุรกิจต้องปิดตัว เกิดการว่างงานมากขึ้น และจะส่งผลถึงสถาบันการเงินในที่สุด เรื่องต่อมาต้องเร่งกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้น อาทิ ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น และส่งเสริมในเรื่องของการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image