“แบงก์ชาติ”ประเมินเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว…จริงไหม

“แบงก์ชาติ”ประเมินเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว…จริงไหม

วันที่ 15 กรกฎาคม ภาคเอกชนและนักวิชาการ รวมถึงภาคส่วนต่างๆ จะว่าอย่างไรที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 ก่อนจะทยอยฟื้นตัว โดยต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังโควิด-19 โดยช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ออกมา และสามารถควบคุมโควิด-19 ได้เป็นผลสำเร็จ ต่อจากนั้นจึงเห็นการเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดออกมา ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอย และการผลิต

นายวิรไทกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งล่าสุด (24 มิถุนายน 2563) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี ถือเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

นายวิรไทกล่าวว่า นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าจะต้องมีนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงด้วย ได้แก่ 1.มีกลไกการบริหารกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม อาทิ เอื้อให้เกิดการควบรวมกิจการในสาขาที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการระบาดคลี่คลายลง 2.สนับสนุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพและมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว 3.เร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล 4.สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการจ้างงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายและปรับตัวเข้าสู่บริบทใหม่ และ 5.เร่งปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่

Advertisement

นายวิรไทกล่าวว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควบคู่กับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะช่วยเสริมสร้างให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและช่วยรักษาระดับศักยภาพการเติบโต ให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตได้ในระยะต่อไป ในส่วนของมาตรการที่ธปท. ได้ออกมาเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีการพิจารณาถึงการกลับมาระบาดรอบที่ 2 แล้ว โดยมาตรการที่ออกมาแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การป้องกันการตื่นตระหนกของตลาดการเงิน การเยียวยา และ การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งก็มีหลายมาตรการที่สามารถนำมาใช้ได้หากเกิดการระบาดระลอก 2 กลับมาอีกครั้ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันประเมินว่า มาตรการที่ธปท. กำลังดำเนินอยู่มีความสามารถเพียงพอที่จะดูแลระบบเศรษฐกิจได้เพียงพออยู่

“ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีหลายคนที่มีความกังวลเรื่องไวรัสโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดเป็นระลอก 2 ได้ ซึ่งมองว่า บุคคลากรทางการแพทย์ และรัฐบาลไทยมีความสามารถวนการบริหารจัดการ และควบคุมโรคได้ดี สะท้อนจากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การออกมาตรการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจไม่มีความจำเป็นเท่าที่ผ่านมา รวมถึงประชาชนและภาคธุรกิจไทยก็มีการเรียนรู้ รับตัว และป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดมาอย่างต่อเนื่อง” นายวิรไทกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image