‘ฉัตรชัย’เผย 9 แบงก์รัฐระดมช่วยลูกค้า 11.16 ล้านรายเจอพิษโควิด

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยข้อมูลครึ่งปีแรก สถาบันการเงินของรัฐทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย ธอส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธพว. ธสน. ธอท. บตท. และ บสย. เยียวยาช่วยเหลือลูกค้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้แล้วถึง 11.16 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 3,789,698 ล้านบาท โดยประเภทของสินเชื่อที่มีจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คือ สินเชื่อเกษตร จำนวน 5.7 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 1,313,285 ล้านบาท โดยการ พักชำระหนี้ถือเป็นมาตรการที่ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดจำนวน 7.2 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 3,012,952 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าประชาชน ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) 7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) 8.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และ 9.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เร่งจัดทำมาตรการทางด้านการเงินเพื่อเยียวยาช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

โดยสถาบันการเงินของรัฐหลายแห่งต่างจัดทำรายละเอียดของความช่วยเหลือที่ไม่น้อยกว่ามาตรการขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ครอบคลุมลูกหนี้ทั้งในกลุ่มลูกค้าประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพประจำ อาชีพอิสระ เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 พบว่า มีจำนวนของลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วถึง 11.16 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 3,789,698 ล้านบาท โดยประเภทของสินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คือ สินเชื่อเกษตร จำนวน 5.7 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 1,313,285 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคล ช่วยเหลือลูกค้าได้จำนวน 4.6 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 1,704,210 ล้านบาท และสินเชื่อประเภท SMEs (อาทิ ท่องเที่ยว ค้าส่ง/ค้าปลีก และอุตสาหกรรม) จำนวน 175,342 ราย วงเงินสินเชื่อ 723,044 ล้านบาท

“รูปแบบของมาตรการความช่วยเหลือที่สถาบันการเงินของรัฐจัดทำให้กับลูกค้าถือว่ามีความหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับระดับความเดือดร้อนของลูกค้าประชาชนหรือผู้ประกอบการ โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่ได้เข้ามาตรการ พักชำระหนี้ จำนวนถึง 7.2 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 3,012,952 ล้านบาท หรือเลือกเข้ามาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาและความต้องการของลูกค้าเอง อาทิ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพื่อลดจำนวนเงินงวด การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือให้สินเชื่อเพิ่มเติมทั้งลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน จำนวน 3 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 183,554 ล้านบาท แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งสามารถลดผลกระทบให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก”นายฉัตรชัย กล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคง ให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ลงเพื่อให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาฟื้นตัว แต่สถานการณ์ในอนาคตยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศยังคงสูงขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจและประชาชนบางส่วนยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจหรือประกอบอาชีพได้ตามปกติ โดยสถาบันการเงินของรัฐพร้อมให้ความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการจัดทำมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ทั้งนี้ สามารถค้นหารายละเอียดของมาตรการได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อรวบรวม และเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตรงความต้องการของลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image