คิดเห็นแชร์ : ค่าเงินบาทอ่อน ยังถือเป็นโชคดีในคราวเคราะห์

คิดเห็นแชร์ : ค่าเงินบาทอ่อน ยังถือเป็นโชคดีในคราวเคราะห์

คิดเห็นแชร์ : ค่าเงินบาทอ่อน ยังถือเป็นโชคดีในคราวเคราะห์

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมอยากจะเน้นไปที่ภาคการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกอาหาร ที่น่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยประคองเศรษฐกิจไทยใน 1Q63 ในขณะที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ เป็นต้น ต้องหยุดพักอย่างต่อเนื่อง เหตุจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะต้องหยุดพักต่ออีกระยะ จากความกังวลเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ในช่วง 2Q63 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกของไทยต้องเผชิญปัจจัยลบทั้งจากด้านการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าในต่างประเทศหยุดชะงักจากวิกฤตโควิด-19 และจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก (เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงที่ผ่านมา โดยใน 2Q63 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากถึง 5.7% (เปรียบเทียบข้อมูลค่าเงินบาท ณ สิ้น 2Q63 กับ 1Q63) ซ้ำเติมภาคการส่งออกของประเทศไทย อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนกรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทกลับทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ล่าสุดขณะที่ผมเขียนบทความฉบับนี้ ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.7 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (อ่อนค่าลง -2.6% เมื่อเทียบข้อมูลค่าเงินบาท ณ สิ้น 2Q63 หรือ QTD)

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายลง หลายประเทศเริ่มทำการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ภาคการผลิตและการบริโภคเริ่มกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ทำให้ผมประเมินว่ามีโอกาสที่จะเกิดการสั่งซื้อสินค้าเพื่อเติมเต็มสินค้าคงคลังอีกครั้ง (Re-stock) โดยเฉพาะในประเทศที่วิกฤตโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกของไทย อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ส่งออกอาหาร เป็นต้น น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้บ้างใน 3Q63 ผมเคยเขียนถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปบ้างแล้ว (บทความ “คิด เห็น แชร์” เดือนกุมภาพันธ์ 2563)ว่าภายหลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ออเดอร์สินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G จะเป็นการเริ่มต้นคลื่นลูกใหม่ของอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการเปลี่ยนถ่ายจากยุคเทคโนโลยี 4G มาเป็น 5G ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี 2G มาเป็น 3G/4G จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของไทย อาทิ DELTA, HANA, KCE เป็นต้น ปรับขึ้นอย่างมากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา สำหรับบทความฉบับนี้ผมจะขอเน้นไปที่หุ้นกลุ่มส่งออกอาหาร ที่น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนของแนวโน้มที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกอาหารอื่นๆ กำลังประสบปัญหาการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารส่งออกในประเทศนั้นๆ จำเป็นต้องชะลอการผลิต และผู้ผลิตอาหารส่งออกในบางประเทศอาจถึงขั้นถูกยกเลิกออเดอร์ (ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนทำการแบนสินค้ากุ้งนำเข้าจากประเทศเอกวาดอร์ เนื่องจากพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผนังตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น) และหลายประเทศประสบปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ทำให้จำเป็นต้องมีการนำเข้าเนื้อหมูจากไทย เป็นต้น แต่สำหรับประเทศไทยที่รับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดี และไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ เป็นใจให้กับเกษตรกรไทย (ทั้งฟาร์มไก่, หมู, กุ้ง ฯลฯ) จะได้ลืมตาอ้าปากรับบทผู้ประคองเศรษฐกิจไทยในช่วง 3Q63 ที่โดยปกติแล้วจะเป็น High season ของฤดูกาลส่งออกอาหาร ทำให้ผมประเมินว่า เมื่อสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ล้วนแต่เป็นบวก หุ้นผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกอาหารหลักๆ ของไทย อาทิ CPF, GFPT, TFG และ TU เป็นต้น มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้น Outperform ตลาดหุ้นไทยในช่วง 3Q63 ได้เช่นกัน

กลับมาที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทย สำหรับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่เป็นช่วงการรายงานผลการดำเนินงาน 2Q63 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมจะชะลอตัวลงเนื่องจากจะเป็นไตรมาสที่รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์แบบเต็มไตรมาส ทำให้มีโอกาสที่ Trailing PE (อัตราส่วน PE ที่เปรียบเทียบดัชนี SET index กับกำไรของบริษัทจดทะเบียนย้อนหลัง 4 ไตรมาส) จะพุ่งขึ้นสูงภายหลังการรายงานงบการเงิน 2Q63 จนทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนตลาดหุ้นไทยลดลงในระยะสั้น

ประกอบกับประเด็นปัญหาการเมืองของไทยที่ล่าสุดต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ ภายหลังมีการลาออกของรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ผมจึงประเมินว่าในช่วงสุญญากาศที่จะเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ (ช่วงกลางกรกฎาคม-สิงหาคม) จะทำให้นักลงทุนเลือกที่จะ Wait&See เพื่อรอพิจารณานโยบายของคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แต่ด้วยสภาพคล่องที่ล้นตลาดหุ้นทั่วโลกในขณะนี้ (ผลจากมาตรการการคลังและการเงินทั่วโลก) ทำให้ผมประเมินว่าหากมีการปรับฐานของดัชนี SET index ในรอบนี้จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อสะสมอีกครั้งสำหรับนักลงทุนที่ “ตกรถ” ในรอบที่ผ่านมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image