‘กทม.’ เงิบ บอร์ดดีอีเคาะให้ ‘ทีโอที’ ลุยโครงการท่อร้อยสายตามป.ป.ช.

‘กทม.’ เงิบ บอร์ดดีอีเคาะให้ ‘ทีโอที’ ลุยโครงการท่อร้อยสายตามป.ป.ช.

นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ทีโอทีดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอกรณีศึกษาโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อป้องกันการทุจริต โดยระบุว่า กทม. มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) คิดราคาค่าเช่า แต่ไม่สามารถลดค่าเช่าได้และต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้เงินจากกองทุนวิจัยพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือยูโซ่ โดยต้องนำเข้าบอร์ดดีอี แสดงให้เห็นว่า เคทีไม่มีความสามารถในการบริหารต้นทุนการก่อสร้าง ขณะที่ ทีโอที สามารถลดราคาได้ ดังนั้น กสทช. ควรมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ

นายมรกต กล่าวว่า ทั้งนี้ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ คือ 1.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงาน กสทช. ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เป็นผู้ร่วมดำนินการในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั้งในส่วนของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การก่อสร้าง และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารให้เป็นแนวทางเตียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ เสถียรภาพของโครงขยสื่อสาร ความมั่นคงของประเทศ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการ

2.ให้เคทีเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ กรณีข้างต้น ให้รวมถึงบริษัทหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือหุ้นเกิน 5%

และ 3.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องของขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างท่อ ร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดย กสทช. กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรพิจารณาร่วมกันพื่อให้อนุญาตการใช้สิทธิแห่งทางและอนุญาดให้ใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาและความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ อันเกิดจากการที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตใช้สิทธิแห่งทางแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อสร้าง จึงไม่สามารถดำเนินการได้แม้ว่ามีการลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างแล้วก็ตาม

Advertisement

“โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เป็นโครงการที่ทีโอทีให้ความสำคัญ ในแนวคิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมร่วมกัน ซึ่งอาทิ การใช้โครงสร้างพื้นฐาน 5G ร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนก็ยินดีที่จะลดต้นทุนที่ต้องต่างคนต่างทำ” นายมรกต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image