‘ธปท.’​ ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้น ปี’64 ได้แน่ หากไร้การระบาดโควิดรอบ 2

‘ธปท.’​ ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้น ปี’64 ได้แน่ หากไร้การระบาดโควิดรอบ 2

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ เปิดเผยภายในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาค ประจำปี 2563 ในหัวข้อ ก้าวต่อไป ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์ ว่า หากประเมินตั้งแต่ช่วงที่ประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะเห็นได้ว่า ปัญหาดังกล่าวจะกระทบกับภาคการเงินเป็นหลัก โดยในช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม ขณะนั้นคนไทยยังไม่รู้จักไวรัสโควิด-19 และมีความตระหนกค่อนข้างมาก เพราะไม่มั่นใจว่าสถานการณ์จะรุนแรงมากเท่าใด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงแรง คือการเกิดขึ้นของตลาดการเงินหลายแห่ง หลายด้านที่ถูกกระทบเพราะประชาชนส่วนใหญ่อยากถือเงินสดเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งยังกระทบต่อราคาหุ้นที่ล่วง อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับตราสารหนี้ และกระทบกับกองทุนรวมที่มีประชาชนที่ตกใจแล้วแห่ไปถอนกองทุนรวม

นายวิรไทกล่าวว่า ดังนั้น ในช่วงแรกเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ธปท. ให้การดูแล เพื่อให้ตลาดการเงินทำงานได้ปกติและไม่ส่งผลกระทบซ้ำเติมกับภาพรวมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะของการฟื้นฟูและต้องเร่งปรับระบบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ หลังจากเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ซึ่งเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปคงเป็นลักษณะการทยอยฟื้นตัวในลักษณะ​เครื่องหมายถูกหางยาว และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับปกติเหมือนกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2564 หรือใช่ระยะเวลาเกือบ 2 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องไม่มีการระบาดรอบที่ 2

นายวิรไทยกล่าวว่า ส่วนในเรื่องของค่าเงินบาทที่มาความผันผวนในช่วงนี้นั้น ส่วนหนึ่งหลังจากโควิด-19 คลี่คลายลงตลาดเงินจะมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเงินและตลาดทุนที่เกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศ เพราะว่ามีสภาพคล่องส่วนเกินเยอะมากในโลก จากการที่ธนาคารของหลายประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ได้มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดในหลายประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก

นายวิรไทกล่าวต่อว่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในสภาวะเศรษฐกิจจริงที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดการผันผวนได้เมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ ออกมา อีกเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการผันผวนคือ ปัจจัยในต่างประเทศ และปัจจัยจากต่างประเทศ อยู่นอกเหนือการควบคุมของธปท. จึงทำให้มีผลต่อค่าเงินค่อนข้างมาก

Advertisement

“ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีกระแสเรื่องเงินไหลออกแต่ไม่มากจนเกิดผลกระทบ จึงอยากให้มีการกระจายความเสี่ยง รวมทั้งความไม่นอนของเศรษฐกิจไทยที่มาจากผลกระทบภาคการท่องเที่ยว และเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศที่อาจสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน จึงกระทบทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ฉะนั้น ผู้ประกอบการที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งออกต้องคำนึงถึงผลกระทบแบบต่อเนื่อง และใช้ช่วงเวลานี้ในการกำหนดรายได้ที่จะได้จากการส่งออกไว้ล่วงหน้า เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าทิศทางของค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร” นายวิรไทกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image