‘ทีเอ็มบี’ แจงผลประกอบการครึ่งปีแรกโตสวนวิกฤต โกยกำไรสุทธิ 7,258 ล้านบาท

‘ทีเอ็มบี’ แจงผลประกอบการครึ่งปีแรกโตสวนวิกฤต โกยกำไรสุทธิ 7,258 ล้านบาท

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยว่า ธนาคารทีเอ็มบีและบริษัทย่อย ได้แจ้งผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้เพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้จากธนาคารธนชาต (ทีแบงก์) เข้ามาในงบการเงินรวม ขณะที่การบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานและเพื่อการรวมกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ เพิ่มขึ้น 119.2% มูลค่าที่ 18,653 ล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 9,732 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่เป็นการตั้งสำรองฯ ตามเกณฑ์ และส่วนที่ตั้งเพิ่มเติมเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนคุณภาพสินเชื่อเน้นการบริหารจัดการในเชิงรุก ทำให้สามารถลดอัตราส่วนหนี้เสียลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ 2.34% ซึ่งหลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.6%

นายปิติกล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานครึ่งปีแรกถือว่า การรวมกิจการทำได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในแง่ของการรับรู้ผลประโยชน์ด้านงบดุล และด้านต้นทุน ขณะที่ขั้นตอนการรวมธนาคาร อาทิ การเปิดสาขาร่วมระหว่างทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต ก็คืบหน้าได้ตามแผนเช่นกัน ด้านรายได้ถือว่าทำได้ดีในไตรมาส 1 เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 เกิดการระบาดโควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญ จึงเป็นเรื่องของการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน เพราะประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินงาน และคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี โดย 3 เรื่องหลักที่ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้ ได้แก่ การคงสภาพคล่องในระดับสูงด้วยการเติบโตฐานเงินฝาก การเพิ่มคุณภาพด้านงบดุลด้วยการลดยอดหนี้เสีย และการคงเงินกองทุนในระดับสูง ซึ่งก็ทำได้ตามแผน เป็นการเพิ่มความสามารถของธนาคารในการรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงถัดไป

นายปิติกล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 เงินฝากเติบโตได้ 3.2% อยู่ที่ 1.44 ล้านล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ขณะที่สินเชื่อปรับตัวลดลง 1.5% มาอยู่ที่ 1.38 ล้านล้านบาท ตามการชะลอลงของยอดสินเชื่อใหม่ และการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อด้วยการลดสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ซึ่งปัจจุบันกว่า 90% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ส่วนรายได้ของไตรมาส 2 ทั้งรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยชะลอลงจากไตรมาส 1 ตามคาด เนื่องจากในไตรมาส 2 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนหดตัวลง ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 16,569 ล้านบาท ลดลง 8.9% ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,776 ล้านบาท ลดลง 6.7% ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 8,791 ล้านบาท ลดลง 10.9%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image