‘ดีแทค’ เนียนคุยทีโอที อัพเกรดคลื่น 2300 บริการ 5G ‘กสทช.’ ยันทำไม่ได้

‘ดีแทค’ เนียนคุยทีโอที อัพเกรดคลื่น 2300 บริการ 5G ‘กสทช.’ ยันทำไม่ได้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า ขณะนี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ทำหนังสือเพื่อขออัพเกรดคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ ที่ทีโอทีและดีแทคเป็นพันธมิตรกันอยู่จนถึงปี 2568 เพื่อให้บริการ 4G แอลทีอี-ทีดีดีนั้น ปัจจุบันดีแทคได้ยื่นข้อเสนอใหม่เพื่อขออัพเกรดคลื่นความถี่ให้กลายเป็น 5G เพื่อใช้ในการแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายอื่นในช่วงครึ่งปีหลังนี้

โดยสาเหตุเป็นเพราะดีแทคไม่มีคลื่นความถี่สำหรับเปิดให้บริการ 5G และการประมูลคลื่น 5G ของ กสทช. ที่จัดขึ้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ใน 3 ย่านความถี่คือ 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์นั้น ดีแทคเข้าประมูลย่านความถี่สูง (ไฮแบนด์) เพียงย่านเดียวและได้คลื่นความถี่ไปน้อยที่สุดคือแค่ 2 ชุดความถี่ โดยในครั้งนั้น ดีแทคให้เหตุผลว่า บริษัทมีคลื่นความถี่ครบทุกย่านซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพิ่งได้รับการจัดสรรมาเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ย่านเดียวกันกับคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ที่ร่วมกับทีโอทีอยู่แล้ว จึงต้องการเพียงคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์เท่านั้น เพื่อบริการอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่ ที่ความเร็ว 1 กิกะบิต ที่เหมาะกับที่พักอาศัย ชุมชน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณไวไฟทำให้รองรับอุปกรณ์ที่ต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มากกว่า ส่วนบริการ 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 เพื่อเพิ่มความครอบคลุมพื้นที่ทั่วไทย

แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมา คู่แข่งทั้ง 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต่างได้คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์จากการประมูล 5G ในครั้งล่าสุด สามารถทำตลาดได้อย่างเต็มที่ โดยเปิดให้บริการ 5G และขยายโครงข่ายครบแล้วทั้ง 77 จังหวัด ประกอบการสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ปัจจุบันที่ขายอยู่ในประเทศไทยรองรับเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และออกสู่ตลาดตั้งแต่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำให้ดีแทคไม่สามารถยืนแผนการดำเนินงานที่ตั้งไว้แบบเดิมได้อีก จึงขอเจรจากับทีโอทีเพื่ออัพเกรดคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีอยู่ให้เป็น 5G เพราะคลื่นความถี่ย่าน 2300, 2600 เมกะเฮิรตซ์ ถือว่าเป็นย่านที่ใกล้เคียงกันสามารถให้บริการร่วมกันได้

“เรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม กสทช. แล้ว เรารับทราบในสัญญาระหว่างทีโอทีและดีแทคสามารถทำได้เพราะเป็นสิทธิของทีโอที แต่เราได้ออกหนังสือกลับไปว่าห้ามโฆษณาว่าการอัพเกรดคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ คือ 5G ยังคงเป็น 4G แอลทีอีตามเดิม เพราะอย่างไรเสีย มาตรฐาน 5G ของไทยคือคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพราะมีอุปกรณ์ที่รองรับ มีความหน่วงต่ำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และมีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ตามจำนวนที่กำหนด ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์นั้นไม่มี” แหล่งข่าว ระบุ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันดีแทคมีลูกค้ารวม 18.8 ล้านราย ถือครองคลื่นความถี่รวม 330 เมกะเฮิรตซ์ ประกอบด้วย คลื่นความถี่ย่าน 700, 900, 1800, 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค จะแถลงข่าวความคืบหน้าล่าสุดของบริษัทใน 3 ประเด็น คือ 1.ภาพอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากวิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด 2.การปรับบทบาทธุรกิจโทรคมนาคมที่มีทั้งความท้าทายและโอกาส และ 3.การปรับแผนทรานฟอร์เมชั่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image