แถลงการณ์ 2 ปี ‘เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย’ ลาวแตก จี้ 4 นักลงทุนรับผิดชอบ-เยียวยาอย่างเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว (LDIM) ในฐานะกลุ่มประชาชนและสมาชิกภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ เนื่องในวาระครบรอบ 2 ปีของโศกนาฎกรรม เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกในประเทศ สปป.ลาว ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 พร้อมเรียกร้องต่อผู้ได้รับผลประโยชน์จากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย รายละเอียดดังนี้

เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว ในฐานะกลุ่มประชาชนและสมาชิกภาคประชาสังคม ผู้ห่วงกังวลต่อผลกระทบจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่มีต่อเศรษฐกิจระดับฐานราก วัฒนธรรมชุมชน และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางชีวภาพในภูมิภาคแม่น้ำโขง ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ เพื่อแสดงความผิดหวังต่อบทบาทของบริษัทผู้สร้างเขื่อน ธนาคารผู้ให้เงินกู้ และรัฐบาลของทั้งสามประเทศคือรัฐบาลลาว เกาหลีใต้ และรัฐบาลไทยต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ และไม่สามารถสร้างหลักประกันได้ว่า อุบัติภัยที่คล้ายกันจะไม่เกิดขึ้นอีก ในช่วงเวลาที่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกำลังได้รับการผลักดันอย่างเข้มข้นทั้งใน สปป.ลาว และประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง

ย้อนอ่าน : ลาวสั่งปชช.อพยพด่วน! หลังสันเขื่อนแตก น้ำ 5,000 ล้านตันทะลักท่วมบ้านเรือน สูญหายนับร้อย (ชมคลิป
โรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว

แม้เหตุการณ์เขื่อนแตกจะผ่านมาแล้วสองปี สังเวยด้วยชีวิตของประชาชนลาวอย่างน้อย 71 คน อีกทั้งวิถีชีวิต ทรัพย์สิน และทรัพยากรที่สูญสิ้นไปของประชาชนอีกหลายพันคน สิ่งที่ได้รับการซ่อมแซมดูเหมือนมีเพียงตัวเขื่อน ที่ประกาศว่าสามารถเริ่มขายไฟฟ้าได้แล้วมาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2562 ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ ยังคงตกอยู่ในสภาพรอคอยและร้องขอการชดเชยและที่ดินที่เหมาะสมเพียงพอต่อการดำรงชีวิตต่อไป ในสภาพที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้เลือก

Advertisement

เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว จึงขอเรียกร้องต่อผู้ได้รับผลประโยชน์จากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยดังต่อไปนี้

1) รัฐบาล สปป.ลาว และบริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อยจำกัด (Xe Pian-Xe Namnoy Power Co., Ltd [PNPC]) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมหุ้นระหว่าง เอสเค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (SK Engineering and Construction [SK E&C]) และบริษัทโคเรีย เวสเทิร์น พาวเวอร์ (Korea Western Power [KOWEPO]) จากประเทศเกาหลีใต้ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจำกัด (มหาชน) (Ratchaburi Electricity Generating Holding [RATCH]) จากประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว (Lao Holding State Enterprise [LHSE]) ต้องเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของเงินค่าชดเชย ทั้งจากการบริจาคและการประกันความเสียหายในรูปแบบต่างๆ ของเขื่อน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อสาธารณะ โดยต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ และให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถประเมินความเสียหายของตน และร้องทุกข์ได้อย่างเหมาะสมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แทนการรับค่าชดเชยที่มาจากข้อมูลหรือการประเมินเพียงโดยรัฐบาลหรือบริษัท ในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังอยู่ในสภาวะขวัญเสียและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

2) บริษัทเอสเค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (SK E&C) ของเกาหลีใต้ และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจำกัด (มหาชน) ของไทย ต้องแสดงความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับบทบาทที่แท้จริงในการผลักดันให้เกิดโครงการ และในฐานะผู้รับผิดชอบด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง บริษัท SK E&C เป็นผู้นำในกลุ่มบริษัทผู้สร้าง ถือหุ้นสูงสุดคือร้อยละ 26 เป็นผู้ดำเนินกระบวนการทางด้านวิศวกรรม การจัดหา การออกแบบและการก่อสร้างโครงการ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือบริษัทราช กรุ๊ป จำกัด [มหาชน]) ถือหุ้นร้อยละ 25 เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย ก่อตั้งโดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัท คือร้อยละ 45 ราช กรุ๊ป มีฐานะเป็นที่ปรึกษาการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ทำงานควบคู่ไปกับบริษัท SK E&C

Advertisement

บริษัท SK E&C ปฏิเสธการตอบคำถามและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับอุบัติภัยเขื่อนแตกของภาคประชาสังคมมาโดยตลอด ทั้งยังโต้แย้งความเห็นที่มาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ สปป.ลาวให้ตรวจสอบสาเหตุที่เขื่อนแตก ว่ามาจากความบกพร่องของการสร้างเขื่อน ในขณะที่ราช กรุ๊ปออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนทันทีหลังเหตุการณ์เขื่อนแตก ว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเขื่อนและการขายกระแสไฟฟ้า จนถึงบัดนี้ นอกจากความสนใจเรื่องการลงทุนและผลประโยชน์จากเขื่อน ทั้งสองบริษัทยังคงเพิกเฉยต่อการแสดงความรับผิดชอบที่มีในแง่วิศวกรรมที่จะมีผลต่อการเยียวยาอย่างยุติธรรม รวมทั้งการเปิดเผยกระบวนการป้องกันอุบัติภัยในอนาคตที่เป็นรูปธรรมตามความรับผิดชอบ

3) ในฐานะผู้ได้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกู้จากโครงการ ธนาคารทั้ง 4 คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ซึ่งเป็นกลไกการสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลไทย ผู้ให้เงินกู้ร้อยละ 70 กับโครงการ ต้องยอมรับอย่างเป็นทางการในข้อเรียกร้องเกี่ยวกับหลักการและมาตรฐานการให้เงินกู้ในโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบ โดยไม่ผลักให้เป็นหน้าที่และการตัดสินใจของรัฐบาลลาวและบริษัทผู้กู้เงิน ดังเช่นที่ปรากฏในจดหมายตอบของธนาคารกรุงไทยต่อผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติลงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ในประเด็นที่คณะผู้เชี่ยวชาญที่รัฐบาลสปป. ลาวแต่งตั้ง แถลงสาเหตุของเขื่อนแตกว่ามาจากความบกพร่องในการก่อสร้างของเขื่อน โดยธนาคารอ้างว่า “เป็นประเด็นของเทคนิคการก่อสร้าง ทางธนาคารไม่อยู่ในฐานะที่สามารถจะตอบคำถามนี้ได้” ซึ่งเป็นคำตอบที่ขัดแย้งกับการมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลลาว และยังแสดงให้เห็นความละเลยต่อความรับผิดชอบต่อการผลักดันให้เกิดมาตรฐานสูงสุดในการลงทุนที่เป็นธรรม ทั้งของผู้กู้เงินและธนาคารเอง

4) ในท้ายที่สุด เราขอเรียกร้องความจริงใจในการยอมรับอย่างเปิดเผยของรัฐบาลลาว บริษัทผู้สร้างเขื่อน และผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศลาว ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างเขื่อนในลาวกับความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจของภูมิภาคแม่น้ำโขง และความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องเปิดเผยข้อมูล และยอมรับการตรวจสอบเพื่อการแก้ไข และการชดเชยที่เป็นธรรม ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั้งในแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา ในกรณีของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อน ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในประเทศกัมพูชา นอกจากนั้น ทันทีที่เขื่อนแตก รัฐบาล สปป.ลาวได้มีคำสั่งให้เขื่อนต่าง ๆ ในประเทศ ตรวจสอบความมั่นคงและระดับน้ำในเขื่อน ส่งผลให้เขื่อนต่าง ๆ เช่นเขื่อนน้ำงึม 1และเขื่อนน้ำเทิน 2 ทำการปล่อยน้ำจำนวนมากออกจากเขื่อน ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเอ่อท้นจากลำน้ำสาขามายังลำน้ำโขงสายหลัก เกิดภาวะอุทกภัยและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปี 2561

จนกระทั่งบัดนี้ หน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบ บริษัท ธนาคาร และบริษัทประกันภัยผู้ทำให้เกิดโครงการ ยังคงล้มเหลวในการสร้างช่องทางที่เป็นระบบ ที่จะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนพลังไฟฟ้าเหล่านี้ ได้รับการชดเชยที่เป็นธรรมและมีศักดิ์ศรี

เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว ก่อตั้งขึ้นหลังจากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตกด้วยความเชื่อว่า โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2561 เป็นบทเรียนที่สำคัญที่ฝ่ายผู้สนับสนุนและนักลงทุนในโครงการเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมทั้งรัฐบาลในภูมิภาคไม่ควรละเลยหรือปฏิเสธ มีเพียงการมีส่วนร่วมของประชาชนในภูมิภาคเท่านั้น ที่จะป้องกันเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และการมีความหวังในอนาคตร่วมกันที่ดีกว่าในปัจจุบัน หากปราศจากความรับผิดชอบที่แท้จริง และความโปร่งใสตรวจสอบได้ของฝ่ายต่าง ๆ ดังที่เป็นอยู่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติจากการลงทุนข้ามพรมแดนในโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในภูมิภาคแม่น้ำโขงจะยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่ศักยภาพของรัฐบาลประเทศแม่น้ำโขงในการปกป้องประชาชนของตนเองจะถูกบั่นทอนลง นี่จึงเป็นเวลาอันเร่งด่วนของการทบทวน เลื่อน หรือระงับแผนการสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image