“ศักดิ์สยาม”กางแผนลุยบิ๊กโปรเจ็กต์ 4 มิติ ดันไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์

“ศักดิ์สยาม”กางแผนลุยบิ๊กโปรเจ็กต์ 4 มิติ ดันไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์

หมายเหตุ- ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “มติชน” โดยนายศักดิ์สยาม เป็นหนึ่งในวิทยากรในงานเสวนา-สัมนามติชน ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า ภารกิจของกระทรวงคมนาคมจะเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ ซึ่งมีอยู่ 4 มิติด้วยกัน คือ ทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการก็ยึดหลักกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ผมได้เริ่มเข้ามาทำงานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่เข้ามาก็เข้ามาดูกรอบเดิมเลย ทางบกก็เข้ามาดูการก่อสร้างต่างๆ ทางพิเศษมอเตอร์เวย์ ทางด่วน ก็มาดูว่าดำเนินการในเรื่องอะไรบ้าง

เรื่องแรกที่ดู คือ การขยายสัมปทานให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ในช่วงแรกก็เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ มีการพูดถึงเรื่องของค่าโง่ เจ้าสุดท้ายก็พบว่าเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ก็ปรึกษาฝ่ายกฎหมายอัยการ

Advertisement

พบว่าปัญหามาจากหลายเรื่อง มีเรื่องของการไม่ยอมให้ขึ้นค่าผ่านทาง ก็เป็นเรื่องที่สะสมมาเรื่อยๆ การฟ้องร้องระหว่างบีอีเอ็มกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ส่วนใหญ่การทางพิเศษแพ้ และไปศาลก็แพ้ มูลค่ารวมประมาณ 5.6 หมื่นล้าน เฉพาะเงินต้นไม่รวมดอกเบี้ย ถ้ารวมดอกเบี้ยก็เป็นแสนล้าน

มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หากสู้กันไปเรื่อยๆ ถ้า กทพ.แพ้หมดก็จะมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ก็มาดูว่ามีแนวโน้มแพ้อยู่แล้ว ก็มีการเจรจาตกลง จนได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น คือ ไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทางในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งอันนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ 1 ที่ดำเนินการตามสัญญา เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ค่าโง่แต่เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์

อีกเรื่องก็เป็นมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ก่อสร้างไม่ได้เพราะเวนคืนไม่ได้ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วย ก็สามารถแก้เรื่องนี้จบและเดินหน้าโครงการต่อไปได้ พี่น้องประชาชนก็ได้รับเงินไป ขณะนี้ก็เดินหน้าโครงการได้ปกติแล้ว

Advertisement

อีกโครงการเป็น Talk Of The Town คือ โครงการถนนพระราม 2 ตอนที่มาทำงานแรกๆ ก็เข้าไปดู มีการกั้นแบริเออร์ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตรงกลางมีถมทรายไม่มีเครื่องจักรอะไรเลย ก็คิดว่าแบบนี้แล้วจะเสร็จได้อย่างไร ก็ถามนายช่างที่เคยคุมงาน เขาบอกว่าเอาทรายมาถมให้มันเซ็ตตัวเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิใช้เวลา 6 เดือน ก็มีการแก้ไขปัญหาเร่งรัดดำเนินการ ขณะนี้แม้จะยังเสร็จไม่หมดแต่สามารถคืนผิวจราจรที่จำเป็นได้ ก็ได้เร่งรัดและไม่ขยายเวลาดำเนินการให้ ผมโชคดีที่หัวหน้าพักก็อยู่ในวงการรับเหมาก่อสร้าง ก็ได้ข้อมูลต่างๆมาด้วย วันนี้การจราจรก็ติดขัดน้อยลง

ตอนนี้ที่เร่งรัดอยู่ก็มีมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ที่จะเปิดในปี 2565 ตอนนี้ก็รอครม.มีมติเรื่องของงานระบบ โครงการนี้ให้เอกชนร่วมทุนกับรัฐ บำรุงรักษาและบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โครงการนี้เราได้ประโยชน์ เพราะการประมูลราคาลดลง 37-38 เปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ว่าเอกชนที่ประมูลได้จะทำไหวหรือเปล่า แต่ก็คิดว่าเขาคงไหวเพราะเขาทำธุรกิจแบบนี้ก็มองระยะยาว

มีคนบอกว่าทำไมไม่เปิดก่อน ก็เปิดไม่ได้หรอกเพราะยังไม่มีความพร้อมเดี๋ยวก็จะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย
เรื่องใหม่ที่กำลังไล่ทำอยู่ตอนนี้คือ ที่นายกเพิ่งสั่ง ขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 จากศรีนครินทร์ไปสุดที่สัตหีบ เพราะเรามีอีอีซี มีเมืองการบินอยู่อู่ตะเภา แต่ขาดระยะอยู่ 7 กิโล นายกฯก็บอกว่าให้ไปถึงเลยจะได้เชื่อมโลจิสติกส์ อันนี้ก็เร่งและทำ

ส่วนอีก 2 เส้นที่กำลังทำคือพระราม 2 ก็มีช่วงที่เราทำ คือ จากพระราม 2 ไปที่เอกชัย-พระราม 2 ความพร้อมมีอยู่แล้ว ศึกษาอีไอเอ งบประมาณจะใช้จากกองทุนมอเตอร์เวย์ แต่อีกเส้น คือ ที่จะออกจากบางใหญ่ คือ นครปฐม-ชะอำ อันนี้พอมาดูรายละเอียดจะต้อทำเป็นช่วง เพราะว่าติดอยู่ตรงกลางเพชรบุรี ตามแนวเดิมมีการคัดค้านจากประฃาชน ไม่อยากให้ใช้แนวเดิม เพราะจะเป็นการทำให้ประชาชนโยกย้ายถิ่นที่อยู่ ผมก็บอกว่าถ้ารอให้สมบูรณ์ก็จะใช้เวานานมาก ดังนั้นก็เลยเสนอว่าทำเป็นช่วงได้หรือไม่

ส่วนที่มีปัญหาก็ค่อยไปดูว่าถ้าไม่ได้จริๆจะทำอย่างไร เช่น เป็นทางเลี่ยงเมือง เป็นต้น แต่ก็ต้องไปศึกษาอีไอเอใหม่ แต่เราก็ตัดโครงการซะ จากที่จะเอานครปฐม-ชะอำ ก็เอาแค่นครปฐม-เพชรบุรี ตรงที่มีปัญหาก็คาไว้ก่อน แล้วก็ไปทำส่วนเพชชรบุรี-ชะอำ แบบนี้ถึงจะเกิด บางทีการทำมอเตอร์เวย์ก็มีเรื่องที่ประชาชนห่วง กลัวจะเป็นเขื่อนกั้นน้ำ น้ำมาจะท่วมประมาณนั้น จริงๆเวลาเขาทำก็มีทางให้น้ำระบายอยู่แล้ว เรื่องนี้ก็ต้องไปทำความเข้าใจ

ส่วนเรื่องทางบกที่นายกฯสั่งการ นายกฯบอกว่าดูแผนมอเตอร์เวย? กับแผนถนนหลวงที่กระทรวงทำ ไม่ค่อยเป็นเน็ตเวิร์กกันเท่าไหร่ ผมก็เลยบอกว่าเราเอาแบบประเทศที่เขาทำสำเร็จในโลกมาเป็นตัวแบบได้ไหม เช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีต่างๆมาเป็นแบบ พวกนี้ทำเป็นบ็อกซ์ แต่อมเริกาทำดีมาก ตรงมาก แต่ของเกาหลีเป็นไปตามภูมิประเทศ โดยสมัยก่อนเทคโนโลยีเรื่องการทำถนนมีข้อจำกัด

แต่ปัจจจุบันในเกาหลี เจอภูเขา เขาเจาะ ในขณะที่ยุโรปก็ทำแบบนี้นานแล้ว เจาะนานแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนแพงแต่ตอนนี้ถูกแล้ว เจอที่เป็นความลึกก็สามารถทำสะพานได้ โดยสิ่งเหล่านี้ ก็เลยเรียนนายกว่า หากทำแบบนี้ก็สามารถประหยัดงบประมาณได้ด้วย นายกก็บอกต้องกระจายการพัฒนาด้วยนะ ท่านนก็เห็นพระราม 2 ด้วยแหล่ะ เลยบอกว่า ทำซ้ำๆอยู่ที่เดิม คนก็มาอยู่แต่ที่เดิม ยิ่งเพิ่มปัญหา ทำไมเราไม่ขยับแนวออกไปสัก 30-40 กม.มีแนวใหม่ออกมา แล้วเชื่อมกันเป็นบ็อกซ์แบบนี้ก็กราบเรียนนายกฯไป

ที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องผ่านเมืองก็ได้ ให้ห่างซะหน่อยราคาเวนคืนก็ไม่แพง และก็ไม่เป็นปัญหาเรื่องอพยพโยกย้ายคนด้วย จริงๆต่างประเทศเขาก็กระจายเมืองเมื่อมีการเชื่อมต่อ จริงๆทางบกก็ไม่ไมีถนนอย่างเดียว ก็มีทางรางด้วย นายกฯทำเรื่องรถไฟทางคู่ กับรถไฟความเร็วสูง ก็เลยคุยกันว่า ทำไมไม่บูรรณาการกัน ก็เลยให้ทาง สนข.ไปกำหนดแนวและบูรณาการกันให้ได้ตัวแบบออกมา

การพัฒนาเรื่องนี้ ได้แบ่งเป็นแนวดิ่ง จากเหนือ-ใต้ มี 3 แนว คือ เชียงราย-บางบัวทอง มอเตอร์เวย์สายตะวันตกหมายเลช 9 แล้วก็วิ่งไปถึงภาคใต้ เชื่อมต่อกับมาเเลเซีย ที่สะเดา แนวที่ 2 จากหนองคาย ซึ่งมีแนวรถไฟอยู่ ที่เริ่มจากกรุงเทพ-โคราช ขึ้นไป ก็เอาแนวนี้มาทำมอเตอร์เวย์คู่มาด้วย แต่จะยิงไปที่แหลมฉบัง

อีกแนวตอนนี้มีการทำสะพานที่บึงกาฬ เชื่อมไปฝั่งลาว ก็จะยิงจากแนวนั้นไปที่สุรินทร์ ก็ทะลุไปกัมพูชา ส่วนแนวขวาง ตะวันตก-ตะวันออก จะมีแนวจากจังหวัดตาก วิ่งไปนครพนม โดยจะต้องเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เราทำไปแล้วไปชนทางด้วนก็ไม่ได้ อีกแนวจากกาญจนบุรี ผ่านโคราช ไปอุบลฯ อีกแนวจากกาญจนบุรีเหมือนกันแต่ไปแหลมฉบัง สระแก้ว ไปทางปอยเปต

แนวที่สำคัญทางภาคใต้มี 2 แนว คือ ชุมพร-ระนอง ซึ่งแนวตรงนี้พูดง่ายๆเป็นแลนด์บริด เมื่อก่อนเคยได้ยินแต่การสร้างโลจิสต์ติกส์ทางน้ำ คือ คลองคอดกระ หรือคลองไทย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าระดับน้ำไม่เท่ากัน ฝั่งอันดามันสูงกว่าอ่าวไทย 1 เมตร การทำคลองที่ต้องทำ คือ จุดพักเรือ เพื่อยกระดับน้ำ หรือลดระดับน้ำ ในขณะที่เรือมา ซึ่งอย่างนั้นไม่เกิดความได้เปรียบในการเดินทางในเรื่องของวลา

เพราะวันนี้คนเดินทางไปทางมะละกา ถ้ามาทางฝั่งอ่าวไทย ชุมพร สามารถทำท่าเรือน้ำลึกชุมพร เรามีแลนด์บริดรถไฟทางคู่ไป มีมอเตอร์เวย์ไป ข้ามไปฝั่งระนองได้ ประหยัดเวลาได้น้อยที่สุด 2 วันขึ้นไป แต่โจทย์ที่ต้องทำให้ขาด คือ ท่าเรือ กับรถไฟ ต้องมีการบริหารจัดการที่ต้องเป็นออโตเมชั่น ที่ต้องเร็ว เพราะถ้ารถไฟวิ่ง 120 กม.ต่อชม. หรือไม่เกิน 150 ต่อชม. จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม.ในการเดินทางไปอีกฝั่งหนึ่ง

อันนี้ก็ต้องจัดการให้เป็นระบบ แต่จริงๆคิดว่าไม่ยาก เพราะในโลกมีคนทำอยู่แล้ว โครงการนี้นายกให้งบมาศึกษาเรื่องท่าเรือน้ำลึก อยู่ระหว่างที่สำนักงบประมาณพิจารณา เพื่อนำเสนอ ครม.ประมาณ 75 ล้านบาท และให้งบ 90 ล้านมาเพื่อศึกษาแนวรถไฟทางคู่ ชุมพร-ระนอง ก็คิดว่าจะใช้วิธีรัฐลงทุนร่วมเอกชน แต่อาจจะเป็นอินเตอร์บิด แต่มีไทยอยู่ในนั้นด้วย คือมาผสมกัน คือมีภาคเอกชนของไทยและต่างประเทศมาดำเนินการ ตรงนี้เกิดเมื่อไหร่ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปมหาศาล

อีกแนวหนึ่งก็เป็นช่วงสงขลา ขึ้นไปทางฝั่งอันดามัน รวมก็จะเป็น 5 แนวพอดี

อันนี้ถือเป็นกรอบความคิด ซึ่งจะมีการศึกษามาสเตอร์แพลนปี 2564 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์เหมือนกัน ซึ่งมีเงินอยู่มาศึกษา พอได้แนวได้อะไรเสร็จ ก็มาออกแบบอะไรกันอีกที เพราะจะต้องมีเรื่องของการเวนคืน แต่โครงการจะถูกลงแน่นอน เพราะไม่ได้วิ่งเข้าไปที่ราคาแพง การก่อสร้างก็จะเป็นแบบพีพีพี หากทำได้ก็จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียนได้อย่างแท้จริง

ทางรางก็แยกเป็นทางคู่ และความเร็วสูง ก็เร่งรัดอยู่ ไทย-จีนที่มีปัญหาเรื่องระบบอาณัติสัญญาณและเดินรถ ก็แก้ปัญหาเรียบร้อย และจะเซ็นสัญญาในเดือนตุลาคมนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เรื่องอีไอเอ ก็ติดปัญหาเฉพาะที่สถานีอยุธยา ก็ต้องไปขอนุญาตกรมศิลปากรณ์ ก็คิดว่าจะจบ

รถไฟความเร็วสูงอีอีซีก็ตามแผน ส่งมอบพื้นที่ก็เร่งดำเนินการ และมีทางคู่บ้านไผ่- นครพนม ก็จะเข้า ครม.เพื่อปรับรูปแบบมาเหมือนเดิม หรือเอางานก่อสร้างกับงานระบบมารวมกันหลังจากก่อนหน้านี้แยกออกจากกัน มีทางคู่เด่นชัย- เชียงราย- เชีงของก็จะเอาเข้าครม.เหมือนกัน

ยังมีเรื่องการฟื้นฟูรถไฟ สินทรัพย์ที่รถไฟมี คือ รางรถไฟ ปัจุบันใช้งานเพียง 30% เอง ส่วนหนึ่งก็เพราะมีปัญหาเรื่องภาระหนี้สินจำนวนมาก ก็เลยบอกว่าทำไม่ให้เช่าใช้วิ่งด้วย จะได้เพิ่มรายได้ ก็ให้ไปศึกษาอยู่
รถไฟฟ้า ที่กำลังทำ คือ สายส้มตะวันออก ส่วนตะวันตกเปิดขายซองแล้ว ก็กำลังดำเนินการอยู่ ตามแผนเปิดปี 2568 ก็ได้ใช้

สายสีแดง ก็ยังมีปัญหาเรื่องของการขยายเวลา โดยในวันพฤหัสนี้ ก็เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหา เรื่องแผนการเปิดให้บริการที่ชัดเจนอีกครั้ง

ส่วนสีน้ำตาล ตั้งคณะทำงานหารือ ม.เกษตรศาสตร์อยู่ เพราะขอใช้พื้นที่ทางมหาวิทยาลัยด้วย และจะเกี่ยวกับทางด่วนไปแครายด้วย เงินมีหมดแล้ว คาดได้ข้อสรุปเดือนหน้า

ภาพรวมรถไฟเป็นไปตามที่กำหนด แต่ก็เร่งรัดให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อให้พี่น้องประขาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ถือเป็นน้องเล็กสุดในระบบการขนส่งประชาชน ปัจจุบันมีหนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท สิ่งที่ขสมก.ดำเนินการ คือ ในเรื่องของการปฏิรูปเส้นทางการเดินรถใหม่ ในอดีตมีการขับปะปนเส้นทางกันไปหมด 1 ถนน มีรถหลายสายวิ่งรวมกันอยู่วิ่งทับกันจนทำให้กระทบต่อต้นทุนที่สูง จากเหตุผลดังกล่าว ขสมก.จึงได้มีการจัดระบบเส้นทางใหม่แบ่งเป็น 4 ประเภท

ประกอบด้วย 1.ฟีดเดอร์ คือการวิ่งรถระยะสั้น เชื่อมจากรถระยะยาวเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า หรือเชื่อมกับการขนส่งทางน้ำ 2.ไลน์เนอร์ คือ การวิ่งในเส้นทางหลัก หรือการวิ่งรถระยะยาว แบบเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก 3.เซอร์เคิล คือการวิ่งรถแบบวงกลม เชื่อมระหว่างรถระยะยาวกับรถระยะสั้น และ4.เอ็กเพลส คือการวิ่งรถบนทางด่วน ซึ่งขสมก. ได้มีการปฏิรูปเส้นทางจากเดิมที่วิ่งทั้งหมด 254 เส้นทาง ลดลงเหลือ 162 เส้นทาง แบ่งเป็นรถขสมก.ให้บริการ 108 เส้นทาง รถร่วมบริการให้บริการ 54 เส้นทาง ซึ่งแผนดังกล่าวได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว

คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เนื่องจากสิ่งที่ดำเนินการก็อยู่ภายใต้การฟื้นฟู คือขสมก.ต้องไม่ขาดทุนอีกต่อไป ส่วนเรื่องหนี้มองว่าเป็นเรื่องปกติที่รัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยนั้น เพราะขสมก.เป็นของภาครัฐ 100% นอกจากนี้ ทางกระทรวงคมนาคมยังได้ฟังเสียงประชาชนในเรื่องของคุณภาพการบริการ และประสิทธิภาพของรถ เนื่องจากรถของขสมก.ส่วนใหญ่เป็นรถเก่า มีอายุมากสุด 30 ปี ซึ่งรถจำพวกนี้ต้องใช้เชื้อเพลิง ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงยังต้องเสียค่าซ่อมบำรุงรถปีละ 1 ล้านบาทต่อคัน

จากปัญหาดังกล่าวนี้ คาดว่าหลังจากปฏิรูปเส้นทางเสร็จ จะมีการเปลี่ยนจากการซื้อรถใหม่มาเป็นการเช่ารถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) และระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีทิคเก็ต เพื่อสะดวกในเรื่องของการจ่ายเงิน รวมถึงเรื่องการติดตั้งระบบจีพีเอส เพื่อดูว่ารถแต่ละคันวิ่งในเส้นทางใดบ้าง ส่วนในเรื่องของการเช็คอิน เช็คเอาท์ของผู้โดยสารนั้น จะสามารถเช็คได้ว่าตอนนี้บนรถโดยสารมีคนอยู่กี่คน เพื่อนำข้อมูลไปบริหารจัดการต่อว่า ในแต่ละช่วงเวลาควรจัดรถวิ่งจำนวนกี่คัน เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้กฎระเบียบของกรมขนส่งทางบก ที่ระบุไว้ว่ารถต้องให้บริการตามระยะเวลาและเส้นทางที่กำหนดไม่สามารถฝ่าฝืนได้ ทั้งนี้ มองว่าต่อไปทุกประเภทการขนส่งต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ส่วนเรื่องรถร่วมบริการ เนื่องจากมีการปรับวิธีการเก็บค่าโดยสารจากเดิมที่เก็บต่อเที่ยว

หลังจากปฏิรูปเส้นทางเสร็จจะมีการลดเส้นทางลงและสามารถบริหารรถที่ออกมาวิ่งได้ รวมถึงเรื่องของการปรับลดพนักงาน เพื่อมาใช้ระบบอีทิคเก็ต เมื่อสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลง และจากผลการศึกษาจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในแต่ละวันลงได้ โดยการใช้วิธีจ่ายเหมาค่าโดยสารเพียง 30 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนนักเรียนจะอยู่ในราคา 25 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งอยู่บนสมมติฐานที่ต้องมีผู้ใช้บริการวันละ 2 ล้านคน ซึ่งได้เสนอวิธีดังกล่าวให้กับคนร.พิจารณา

ซึ่งทางคนร.ได้ทักท้วงมาว่าจากแผนเดิมคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูขสมก.ได้ใน 3 ปี แต่เมื่อปรับแผนใหม่ ใช้วิธีเหมาค่าโดยสาร 30 บาทต่อวัน ทำให้ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่ารายได้ของขสมก.จะกลับมาเป็นบวก ทางคนร.มองว่านานเกินไป ซึ่งที่นานเพราะรายได้ต่างกันจากเดิมที่คิดตามระยะทาง เปลี่ยนมาเป็นจ่ายเหมาทั้งวัน ทั้งนี้ก็เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนแนวคิดคือประชาชนต้องมาก่อน ซึ่งตอนนี้ได้ให้ขสมก.ร่างเงื่อนไขประกวดราคา (ทีโออาร์) เตรียมไว้แล้ว รอเพียงคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก็จะสามารถนำเนินการเช่ารถเมล์อีวีได้ทันที คาดว่าจะได้เห็นรถกลุ่มแรกในช่วงกลางปี 2564 แน่นอน

ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจเพราะขสมก.ขาดทุนกว่า 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี หากไม่มีการดำเนินการแก้ไข หนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเรื่องที่ขสมก.จะกลับมามีกำไรก่อนหักภาษี หักดอกเบี้ยและค่าเสื่อม หรืออีบิทด้า เมื่อไหร่นั้น ให้คนร.ทำเครื่องมือชี้วัดเลยว่าตั้งแต่ปีที่ 1-7 ขสมก.สามารถชำระหนี้ได้ปีละเท่าไหร่ตามเป้าหมายหรือไม่ หรือหากไม่สามารถทำได้ก็ปล่อยให้ล้มไปได้เลย แต่เชื่อมั่นว่าจากผมการศึกษาและวิธีที่ดำเนินการเป็นไปได้สูงมากที่ขสมก.จะกลับมามีกำไรได้ภายใน 7 ปี ส่วนรถร่วมบริการ เบื้องต้นได้มีการหารือรวมกันแล้วเบื้งต้นทางผู้ประกอบการก็เข้าใจคอนเซปที่ภาครัฐอยากปฏิรูปฯ เป็นเรื่องที่หากทำร่วมกันแล้ว รถร่วมบริการยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

แต่ว่าสิ่งที่ยังมีปัญหาคือ 7 ปีแรก เนื่องจากการลงทุนค่อนข้างสูงเอกชนอาจจะต้องมาช่วยขสมก.ในเรื่องของการจ้างพนักงานที่ยังคงอยู่ เรื่องปลดเกษียณพนักงานก่อนกำหนด หรือเออรี่รีไทร์ แต่เราไม่สามารถเอาเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยค่าบริการเชิงสังคม (พีเอสโอ) ของภาครัฐ ไปสนับสนุนเอกชนได้ มีสิ่งเดียวคือเอกชนต้องเป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถ (โอเปอเรเตอร์) ที่ขสมก.จ้างมาอีกที แต่เอกชนต้องคืนไลเซ่นส์ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังมองว่าผิดมติครม. แต่ผมมองว่าหากผิดมติครม.ก็ขอปรับมติได้ หากคิดตรงกันว่าสมการในตอนนี้ต่างจากอดีตก็ควรปรับให้สามาถเดินหน้าต่อไปได้เพื่อให้ทุกอย่างจะเชื่อมต่อกัน

ในส่วนของการดำเนินการขนส่งทางน้ำ ได้มอบหมายให้นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดูแล โดยจะมีการปรับปรุงโลจิสติกส์ทางน้ำ รวมถึงได้เชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน หรือพีพีพี ในการสร้างเทอร์มินอลซึ่งไม่ได้เป็นการเอื้อเอกชน แต่ต้องดูว่าเมื่อมาร่วมทุนกันแล้วประชาชนจะได้อะไร โดยโครงการดังกล่าวเพื่อเอื้อให้ประชาชนได้เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อทำการค้า และนำรายได้จากส่วนนั้นมาชดเชยค่าโดยสาร ส่วนเรื่องโลจิสติกส์ทางน้ำขนาดใหญ่ โดยนายกรัฐมนตรี ให้ศึกษาการทำกองเรือพาณิชย์นาวี ซึ่งเรื่องนี้ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้ศึกษา เพื่อเอื้อต่อการขนส่งสินค้าในอนาคต

ส่วนเรื่องการบริหารงานทางอากาศ หน่วยงานที่มีกำลังที่สุดตอนนี้ คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. ที่ขณะนี้ มีแผนที่จะพัฒนาศักยภาพ จากเดิมกระทรวงคมนาคมได้วางเป้าหมายการรองรับผู้โดยสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 150 ล้านคนต่อปี ซึ่งทอท.ก็ได้รับนโยบายและไปดำเนินการ อย่างที่เห็น คือ ปัจจุบันไทยมีสนามบินหลัก 2 แห่ง คือ สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทั้ง 2 แห่งยังมีพื้นที่ที่สามารถขยายพื้นที่ไปได้ โดยทางทอท.ได้เสนอมาสเตอร์แพลน ที่มีหลายฝ่ายมองว่าทำไม่ไม่พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามมาสเตอร์แพลน

ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่ามาสเตอร์แพลนมีการปรับปรุงทุก 4-5 ปี จะมีการปรับปรุง 1 ครั้ง แต่หลายฝ่ายมองว่าอาคารผู้โดยสาร หรือเทอร์มินอล ในทิศตะวันออก ทิศตะวันออก ทำไมถึงไม่ดำเนินการ ซึ่งทางทอท.มองว่าหากสร้างจะทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารลดลงทันที ระหว่างก่อสร้างก็อาจจะเกิดปัญหาได้ ทอท.จึงเสนอให้แยกออกมาสร้างด้านทิศตะวันออก และยืนยันว่าคนละส่วนกับที่กรมทางหลวงต้องมาเสียงบประมาณในการสร้างมอเตอร์เวย์ และไม่ทำให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินแพงขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดราคาไว้เรียบร้อยแล้ว จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้มีการอธิบายให้ทุกฝ่ายเข้าใจเรียบร้อยแล้ว มองว่าถ้าทำได้ต้องตัดสินใจและอธิบายได้ทุกอย่างก็จะเดินหน้าต่อ

หลังจากนี้ จะมีการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการประกวดราคาเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าปัจจุบันมี 2 รันเวย์ ทำให้ประสิทธิภาพที่จะให้เครื่องบินลงจอดได้น้อยลง แต่หากมี 3 รันเวย์ ยังสามารถสนับซ่อมบำรุงได้ ส่วนสนามบินดอนเมือง ยังมีบางส่วนติดการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่จากการศึกษาเบื้องต้นสามารถให้สำนักงานการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาได้ ถ้าไม่มีผลกระทบออกไปนอกพื้นที่ ก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนในเรื่องของอู่ตะเภาเป็นอีกสนามบินที่ช่วยรองรับรับผู้โดยสารได้กว่า 60 ล้านคนต่อปี มองว่าในเรื่องของการพัฒนาสนามบินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะรายได้หลักของประเทศมาจากภาคการท่องเที่ยว มาจากทางอากาศกว่า 80%

แต่หากทางอากาศของไทยไม่เป็นประตูที่ใหญ่พอก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รายได้จากการท่องเที่ยว ส่วนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีสนามบินภูมิภาคที่ดูแลกว่า 29 แห่ง ต้องมาดูกำลังการใช้งบประมาณปกติของกรมฯมีเท่าไหร่ ไม่อยากให้แบกภาระเยอะ อยากให้มีการหารือกับ ทอท.ให้เข้ามาบริหารแล้วรับรายได้ร่วมกัน ซึ่งจากการพูดคุยพบว่ามีบางสนามบินที่จะเป็นสนามบินที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ อาทิ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัม เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกกว่า 20 แห่ง

ต้องไดูว่าจะสามารถพัฒนาอย่างไรได้บ้างไม่อยากให้ปล่อยเป็นพื้นที่รกร้างถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประโยชน์ ส่วนเรื่องสายการบินต่างๆ เบื้องต้นได้มีกำหนดข้อกำหนดต่างๆ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เดินอากาศ ซึ่งมีผลเมื่อปี 2562 มองว่าเรื่องทางเดินอากาศเป็นเรื่องใหญ่ถ้าพัฒนาดีๆ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล โดยในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นช่วงที่ทำให้การจราจรทางอากาศได้หยุดพักหายใจว่าจะกำหนดกติกาหลังจากนี้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป รวมทั้งได้กำหนดแผนการเดินอากาศไทยหลังโควิด-19 เพื่อรองรับเมื่อสถานการเข้าสู่ภาวะปกติอีกด้วย

ส่วนของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้โครงการของคมนาคมหายไปไหนแต่ระยะเวลาในการก่อสร้างอาจจะต้องเลื่อนออกไป เพราะว่าเวลาในการดำเนินการที่อยู่ในส่วนที่รับผิดชอบงบประมาณ ให้ไปดูแต่โครงการไม่จำเป็นต้องเสร็จภายใน 1 ปี ให้ใช้วิธีผูกพันธ์งบประมาณแล้วนำงบประมาณในส่วนดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาครัฐเพื่อนำเงินไปช่วยโควิด-19 ซึ่งในปี 2563 กระทรวงคมนาคมตัดงบประมาณออกไปประมาณกว่า 8 พันล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้มีผลกระทบกับโครงการที่หลายกรมดำเนินการอยู่ จะกระทบก็มีแค่เรื่องระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ต้องเลื่อนออกไปเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการที่ทางกระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการที่จะช่วยเกษตรกรชาวสวนยางโดยการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยด้านคมนาคม อาทิ กรวย และแบริเออร์ เป็นต้น เพื่อลดอุบบัติเหตุทางท้องถนนโดยได้ร่วมศึกษากับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพิ่มการรองรับจากเดิมที่รองรับได้เพียง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยแบริเออร์ไม่ระเบิด และลดการพุ่งข้ามเลนเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ โดยได้รับการยืนยันจากสถานบันที่ประเทศเกาหลีใต้ว่าแบริเออร์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพทนทานต่อการเกิดอุบัติเหตุจริง ซึ่งหากนำมาใช้งานจริงเชื่อว่าจะสามารถลดการเกิดอุบบัติเหตุที่รุนแรงได้ทันที

รวมถึงได้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย และจะเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้หน่วยงายรัฐมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน ภายใน 3 ปี หรือระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งจะช่วยให้ราคามีเสถียรภาพมากขึ้น และเงินจะถึงมือเกษตรกรมากกว่าทุกโครงการที่ได้ดำเนินการมา โดยใช้วิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กลับกลุ่มสหกรณ์ชาวสวนยาง แล้วให้ผลิตและกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตไม่มีพ่อค้าคนกลาง เงินจะถึงเกษตรกรโดยตรงทุกบาททุสตางค์ ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะได้เงินจากโครงการดังกล่าวประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบการก่อสร้างเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง การนำยางพารามาทำแบริเออร์ถือว่ามีราคาถูกและมีคุณภาพ คาดว่าในช่วงเดือนสิงหาคมนี้นายกรัฐมนตรี จะนำโครงการนี้ขึ้นมาพิจารณา

ขณะนี้ มีการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไปแล้วกว่า 50% ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม จะเพิ่มเป็น 70-80% และเชื่อว่าการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 จะไม่ล่าช้าซ้ำรอยปี 2563 แน่นอน ซึ่งในส่วนของการพิจารณางบประมาณของแต่ละกระทรวง คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะได้นำเข้าการพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งการเสนอในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเสนอรอบแรกคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ในเดือนกันยายนนี้

เมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่นี้แล้วก็ต้องทำเต็มที่ ผมใช้วิธีการบริหารงานแบบการบริหารทีมฟุตบอลคือ หากข้าราชการคนไหนเหนื่อยหรือไม่สามารถบริหารงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ก็ต้องพักเหมือนนักฟุตบอลที่ไม่ไหวก็ต้องให้ตัวสำรองลงสนามแทน แต่พักแล้วต้องกลับมาทำงานให้ได้ ผมจึงเรียกการบริหารงานของตัวเองว่า คมนาคมยูไนเต็ด เป็นการทำงานแบบช่วยกันผลักดันเรื่องต่างๆ ให้เดินหน้าต่อไปได้ เรื่องไหนที่ยังติดปัญหาก็ช่วยกันแก้ไขต่อไป

ส่วนเรื่องการแต่งตั้งปลัดเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าแต่ละคนทำงานเป็นอย่างไรแต่จากที่สัมผัสทุกคนเก่งหมด แต่ต้องดูคนที่เหมาะสมที่สุด เพราะการเป็นปลัดกระทรวงฯไม่ได้เข้ามาเป็นายคนอย่างเดียวต้องบูรณาการงานให้ครบทั้ง 4 ด้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image